เยียวยาน้ำท่วมล่าสุด ครม.จัดหนัก เคาะลดภาษี เว้นค่าเช่า ปล่อยเงินกู้

15 ต.ค. 2567 | 14:53 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2567 | 15:17 น.
576

เยียวยาน้ำท่วมล่าสุด มัดรวมทุกการช่วยเหลือของกระทรวงการคลัง หลังครม. รับทราบจัดหนักสารพัดแนวทาง ทั้งด้านภาษี ลดค่าเช่า ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เตรียมออกอีก 3 มาตรการใหญ่ ชงครม.ในเดือนต.ค. 2567 นี้

วันนี้ (15 ตุลาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง มาตรการเยียวยาน้ำท่วมล่าสุด ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมาตรการช่วยเหลือทั้งด้านภาษี การลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูบ้านพักอาศัยและกิจการ แยกเป็นรายการต่าง ๆ ดังนี้

มาตรการด้านภาษี

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่ากับจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แก่บริษัทและห้างหุ้นส่วนสำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันเพื่อชดเชยความเสียหายจากอุทกภัย

สรุปแบบง่าย ๆ คือ เงินช่วยเหลือที่ได้รับจากรัฐบาล และเงินชดเชยที่ได้จากบริษัทประกันภัย ไม่ต้องนำไปนับรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษี รวมถึง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสิ่งของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคแก่ผู้ประสบอุทกภัย 

ลดค่าเช่าที่ราชพัสดุ

กรมธนารักษ์ ลดค่าเช่าที่ราชพัสดุแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • การเช่าเพื่ออยู่อาศัย หากที่พักเสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี แต่หากที่พักเสียหายทั้งหลัง ยกเว้นค่าเช่าให้ 2 ปี
  • การเช่าเพื่อการเกษตร ยกเว้นค่าเช่าให้ 1 ปี
  • การเช่าเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หากไม่สามารถทำกิจการได้ตามปกติเกิน 3 วัน ยกเว้นค่าเช่าเป็นรายเดือน
  • ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มเติม ให้แก่ผู้เช่าที่จ่ายค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากประสบอุทกภัย
     

สินเชื่อ Soft loan

ส่วนการจัดทำสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft loan เพื่อช่วยเหลือ ซ่อมแซมและฟื้นฟูอาคารบ้านเรือน กิจการการ ตลอดจนมาตรการลดภาระหนี้สิน ลดอัตราดอกเบี้ย และพักหนี้ให้แก่ผู้กู้ที่ประสบอุทกภัย ดังนี้

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5 % ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี โดยให้วงเงินรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท โดยสามารถขอรายละเอียดของสินเชื่อก้อนนี้ได้จากธนาคารที่ใช้บริการอยู่ หรือธนาคารใกล้บ้าน (มี 16 ธนาคารที่เข้าร่วม)

โครงการ SMEs No One Left Behind ของ บสย. ที่เป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 1,000 ล้านบาท โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อราย 10,000 – 2 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 1.25 % ต่อปี และระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี

ธนาคารออมสิน 

ช่วยเหลือลูกหนี้เดิม ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และช่วยเหลือผู้ถือบัตรเครดิต ด้วยการปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำเป็น 3% ให้ 3 รอบบัญชี

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 

สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีสถานะปกติ หรือ ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน สามารถขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้สูงสุดถึง 20 ปี โดยมีระยะปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยปรับทั้งจำนวน และมีมาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน สำหรับเสริมสภาพคล่องและใช้จ่ายค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% ที่เหลือ อัตราดอกเบี้ย MRR  

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุนซ่อมแซมบ้าน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนเป็นค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 

ให้การช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ด้วยการลดเงินงวดที่ชำระ 50% และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 2% เป็นเวลา 6 เดือน 

สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาที่เหลืออัตราดอกเบี้ย 1%

สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้้ ให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% และผ่อน 1,000 บาทต่องวด ระยะเวลาที่เหลืออัตราดอกเบี้ย 1%

สำหรับการขอสินเชื่อใหม่หรือสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย สามารถขอกู้ได้ถึง 2 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน อัตราดอกเบี้ย 3 เดือนแรก 0% ระยะเวลาที่เหลือตามเงื่อนไขของการผ่อนชำระ (โดยมีตั้งแต่ 2% - 6%) และยังมีการให้ค่าสินไหมทดแทนเร่งด่วนแก่ผู้ทำกรมธรรม์ประกันภัยที่อยู่อาศัย โดยจ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 

มีมาตรการพักหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไร ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 

มีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย กรณีกู้ยืมเงิน Fixed Loan พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ในกรณีตั๋วสัญญาใช้เงิน จะขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินไปอีกไม่เกิน 180 วัน และยังมีมาตรการเติมทุนฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการ หากมีธุรกิจอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ให้วงเงินเพิ่ม 10% ของวงเงินอนุมัติสินเชื่อ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 

ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินสูงสุด 180 วัน 

มาตรการเพิ่มเติม

ส่วนนโยบายที่อยู่ระหว่างการออกระเบียบกฎหมายเพิ่มเติม มี 3 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการลดหย่อนภาษี โดยจะกำหนดให้รายจ่ายการซื้ออุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้านในพื้นที่น้ำท่วม สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน 

2. มาตรการขยายระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษี รวมถึงการยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับเครื่องจักรและชิ้นส่วน ที่เกิดจากการลงทุนเพื่อทดแทนความเสียหายจากน้ำท่วม

3. มาตรการสินเชื่อ Soft Loan เพิ่มเติมอีก 50,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้ฟื้นฟูทันช่วง High Season

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 มาตรการดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คาดว่าจะสามารถนำเสนอเข้า ครม. ได้ภายในเดือนตุลาคม 2567 นี้