ลงทะเบียนเงินดิจิทัล ล่าสุด เปิด 17 คำถาม กลุ่มตกหล่นคนพิการ ใครรับเงิน 10000

11 ต.ค. 2567 | 03:33 น.
4.6 k

ลงทะเบียนเงินดิจิทัล ล่าสุด เปิด 17 คำถาม กลุ่มตกหล่นคนพิการ ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ จำนวน 3.8 แสนราย เช็ครายละเอียดดูที่นี่

ลงทะเบียนเงินดิจิทัล ล่าสุด กระทรวงการคลัง โดย กรมบัญชีกลาง ได้โอนเงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ดำเนินการโอนแล้วเสร็จ ตั้งแต่วันที่ 25-30 ก.ย.2567 สั่งจ่ายเงิน 14.44 ล้านคน

  • โอนสำเร็จแล้วรวมทั้งสิ้น 14.05 ล้านคน 
  • โอนเงินไม่สำเร็จจำนวน 381,287 คน

 

ลงทะเบียนเงินดิจิทัล ล่าสุด เปิด 17 คำถาม กลุ่มตกหล่น 3.8 แสนราย ดังนี้

คนพิการ

คำถามที่ 1 คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 จะได้รับเงินเมื่อใด

คำตอบ : วันที่จ่ายเงินครั้งแรก วันที่ 25 กันยายน 2567 

  •  วันที่จ่ายเงินซ้ำครั้งแรก วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2567 
  • วันจ่ายเงินซ้ำครั้งที่สองวันพฤหัสบดีที่  21 พฤศจิกายน 2567 
  • วันจ่ายเงินซ้ำครั้งที่ 3 วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567

หมายเหตุ : ในกรณีที่กรมบัญชีกลางจ่ายเงินให้แก่คนพิการไม่สำเร็จในครั้งแรก จะดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) จำนวน 3 ครั้ง

คำถามที่ 2 คนพิการ จะได้รับเงินผ่านช่องทางใด

คำตอบ : ช่องทางการรับเงินของคนพิการ มีดังนี้
1. กรณีมีบัตรประจำตัวคนพิการ ฐานข้อมูลของ พก. พม. ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567

1.1 บัตรประจำตัวคนพิการไม่หมดอายุ

1) บัตรประจำตัวคนพิการไม่หมดอายุ และได้รับเงินเบี้ยความพิการจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา จะรับเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารที่รับเงินเบี้ยความพิการของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา

  2) บัตรประจำตัวคนพิการไม่หมดอายุ และไม่ได้รับเงินเบี้ยความพิการจาก อปท. กทม.และเมืองพัทยา จะรับเงินผ่านพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน

1.2 บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ

1) บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ และได้รับเงินเบี้ยความพิการจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา จะต้องต่ออายุ/ทำบัตรประจำตัวคนพิการก่อน จึงจะรับเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารที่รับเงิน เบี้ยความพิการของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา  

2) บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ และไม่มีข้อมูลการรับเงินเบี้ยความพิการจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา  ต้องต่ออายุ/ทำบัตรฯ และเปิดบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน หรือให้ยื่น
คําขอรับเงินเบี้ยความพิการต่อ อปท. กทม. และเมืองพัทยา ที่ตนมีภูมิลำเนา

2. กรณีไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ แต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา จะต้องมาทำบัตรประจำตัวคนพิการก่อน จึงจะรับเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารที่รับเงินเบี้ยความพิการของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา

ดิจิทัลวอลเล็ต เช็คสิทธิ์ เปิด 17 คำถาม กลุ่มตกหล่นคนพิการ ใครรับเงิน 10000

คำถามที่ 3 คนพิการที่รับเงินเบี้ยความพิการจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา เป็นเงินสด จะได้รับเงิน ผ่านช่องทางใด

คำตอบ : อปท. กทม. และเมืองพัทยา ที่ผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยความพิการ
 
คำถามที่ 4 คนพิการที่ยื่นคำขอบัตรประจำตัวคนพิการ หลังวันที่ 31 สิงหาคม 2567 จะได้รับสิทธิหรือไม่

คำตอบ :  ไม่ได้รับสิทธิ คนพิการที่ได้รับสิทธิจะต้องอยู่ในฐานข้อมูลของ พก. พม. ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567
 

คำถามที่ 5 ทำไมคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม. และ ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องต่อบัตรประจำตัวพิการก่อนสิ้นสุดโครงการ จึงจะได้รับสิทธิ

คำตอบ การต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการเพื่อยืนยันตัวตนและสถานะทางกฎหมายของคนพิการ ในการขอรับสิทธิ สวัสดิการต่าง ๆ ทั้งนี้ คนพิการสามารถดำเนินการต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการที่ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ โดยใช้เอกสาร ดังนี้
• บัตรประชาชน
• ทะเบียนบ้าน (ถ้ามี)
• เอกสารรับรองความพิการ (กรณีมีความพิการเพิ่มหรือเปลี่ยนไปจากเดิม)
• หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล (ถ้ามี)
• บัตรประจำตัวคนพิการใบเดิม

กรณี คนพิการที่บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ แต่มีข้อมูลการรับเบี้ยความพิการ ให้ดำเนินการต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567
กรณี คนพิการที่บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ แต่ไม่มีข้อมูลการรับเบี้ยความพิการให้ดำเนินการต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการให้แล้วเสร็จ และ

  •  กรณีเป็นคนพิการที่สามารถเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารได้ ให้ทำการเปิดพร้อมเพย์ที่ผูกกับ เลขประจำตัวประชาชน ภายในวันที่ 17 ธันวาคม หรือ
  •  กรณีเป็นคนพิการติดเตียงหรือไม่สามารถผูกพร้อมเพย์ได้ ให้ลงทะเบียนและยื่นคําขอรับเงินเบี้ยความพิการต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีภูมิลำเนา ณ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสถานที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด ภายในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ก่อนการโอนเงินเบี้ยความพิการ เพื่อที่กรมบัญชีกลางจะใช้บัญชีเงินฝากธนาคารที่รับเงินเบี้ยความพิการดังกล่าว สำหรับการโอนเงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ต่อไป

 
คำถามที่ 6
ทำไมคนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ย ความพิการตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องทำบัตรประจำตัวพิการก่อนสิ้นสุดโครงการ จึงจะได้รับสิทธิ

คำตอบ การรับสิทธิโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ กำหนดคุณสมบัติคือคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่ยังไม่หมดอายุตามฐานข้อมูลของ พก. พม. กรณีคนพิการที่ได้รับเงินเบี้ยความพิการแต่ไม่มีในฐานข้อมูลของ พก. อาจเกิดจากเป็นคนพิการที่ใช้บัตรประจำตัวคนพิการแบบเก่า (แบบเล่ม) และไม่ได้มีการยื่นเพื่อลงทะเบียนในระบบ ดังนั้น ต้องดำเนินการยื่นขอมีบัตรประจำตัว
คนพิการเพื่อยืนยันตัวตน ที่ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 โดยใช้เอกสาร ดังนี้

• บัตรประจําตัวประชาชน/สูติบัตรสำหรับบุคคลอายุต่ำกว่าสิบห้าปี

• ทะเบียนบ้าน (ถ้ามี)

• รูปถ่ายคนพิการ ขนาด 1 นิ้ว  (กรณีที่ไม่ได้มายื่นด้วยตนเอง)

• เอกสารรับรองความพิการ (กรณีที่พิการเชิงประจักษ์ตามประกาศฯ ไม่ต้องใช้เอกสารรับรองความพิการ)

• หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล (ถ้ามี)
 
คำถามที่ 7 ทำไมคนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ย ความพิการตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 จะต้องทำบัตรประจาตัวพิการก่อนสิ้นสุดโครงการ จึงจะได้รับสิทธิ

คำตอบ กรณีคนพิการที่ได้รับเงินเบี้ยความพิการแต่ไม่มีในฐานข้อมูล พก. พม. อาจเกิดจากเป็นคนพิการที่ใช้บัตรประจำตัวคนพิการแบบเก่า (แบบเล่ม) และไม่ได้มีการยื่นเพื่อลงทะเบียนในระบบ แต่เนื่องจากเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 จึงทำให้ไม่สามารถรับสิทธิจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามคุณสมบัติ แต่จะได้สิทธิของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ แต่คนพิการจะต้องการยื่นขอมีบัตรประจำตัวคนพิการเพื่อยืนยันตัวตนและสถานะทางกฎหมายของคนพิการ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567

คำถามที่ 8 คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่ยังไม่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม. เคยได้รับเงินเบี้ยความพิการ 800 บาท หรือ 1,000 บาท จาก อปท. เป็นเงินสด จะได้รับเงินจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 อย่างไร

คำตอบ กรมบัญชีกลาง จะโอนเงิน 10,000 บาท เข้าบัญชีของ อปท. ที่ได้รับเบี้ยความพิการ 800 บาท  หรือ 1,000 บาท เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ อปท. นำเงินไปให้คนพิการ
 
คำถามที่ 9 คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่ยังไม่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ไม่ประสงค์ลงทะเบียนรับเงินเบี้ยความพิการ 800 บาท หรือ 1,000 บาท กับ อปท. กทม. หรือเมืองพัทยา จะได้รับเงินจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 หรือไม่ อย่างไร

คำตอบ ได้รับเงิน 10,000 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกด้วยเลขประจำตัวประชาชน หากคนพิการมีพร้อมเพย์ที่ผูกด้วยเลขประจำตัวประชาชนขอให้ตรวจสอบว่าบัญชีพร้อมเพย์ยังสามารถใช้งานได้
เพื่อที่กรมบัญชีกลางจะได้จ่ายเงินผ่านพร้อมเพย์ แต่หากคนพิการยังไม่เคยมีพร้อมเพย์มาก่อน ขอให้เปิดบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกด้วยเลขประจำตัวประชาชน
 
คำถามที่ 10
คนพิการที่ไม่มีสิทธิ ตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567

คำตอบ 1. คนพิการที่ขึ้นทะเบียนขอมีบัตรประจำตัวคนพิการครั้งแรก หลังวันที่ 31 สิงหาคม 2567'

2.คนพิการที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คนพิการที่ขอยกเลิกการมีบัตรประจำตัวคนพิการ ก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2567

3. คนพิการที่ขอยกเลิกการมีบัตรประจำตัวคนพิการ ก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2567 และมายื่นขอมีบัตรฯ คนพิการหลังวันที่ 31 สิงหาคม 2567
 
คำถามที่ 10
คนพิการทำบัตรหลังวันที่ 31 สิงหาคม 2567 แต่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับสิทธิหรือไม่

คำตอบ :  คนพิการที่ทำบัตรประจำตัวคนพิการหลังวันที่ 31 สิงหาคม 67 แต่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังคงได้รับสิทธิ แต่เป็นการรับสิทธิผ่านกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  โดยรับเงินในช่องทางของบัญชี
พร้อมเพย์ที่ผูกด้วยเลขประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิ หรือผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ได้แจ้ง ความประสงค์ในหนังสือให้ความยินยอมกับคลังจังหวัด
 
คำถามที่ 11  คนพิการที่รับสิทธิผ่านเบี้ยความพิการต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิหรือไม่ และจ่ายเงินอย่างไร

คำตอบ  : ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ โดยกรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ตามเงื่อนไข
ที่กำหนด ดังนี้

  •  ช่องทางเดิมในการรับเบี้ยความพิการ
  •  ช่องทางสวัสดิการแห่งรัฐ
  •  ช่องทางพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนของคนพิการ

 
คำถามที่ 12  กรณีที่คนพิการติดเตียงไม่สามารถออกมาทำบัตรฯ หรือ ต่ออายุบัตรฯ จะทำอย่างไร

คำตอบ :    แจ้งศูนย์บริการคนพิการจังหวัดหรือ อปท. เพื่อให้ความช่วยเหลือในการออกบัตรประจำตัวคนพิการ
 
คำถามที่ 13
 ทำไมต่อบัตรฯ คนพิการแล้ว ผูกพร้อมเพย์แล้วหรือแจ้งบัญชีรับเบี้ยแล้วยังไม่ได้เงิน
คำตอบ : หากดำเนินการแล้ว แต่ไม่ได้รับเงินเข้าบัญชีให้รอในรอบการโอนเงินซ้ำ (Retry) รอบถัดไป อาจเป็นเพราะดำเนินการไม่ทันรอบการนำส่งข้อมูลที่หน่วยงานต้นทางต้องนำส่งข้อมูลมาให้กรมบัญชีกลางใช้เตรียมการจ่ายเงิน ทำให้ต้องรอการโอนเงินซ้ำในรอบถัดไปเท่านั้น
 
คำถามที่ 14  
บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

คำตอบ : การต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการเพื่อยืนยันตัวตนและสถานะทางกฎหมายของคนพิการ ในการขอรับสิทธิ สวัสดิการต่างๆ ทั้งนี้ คนพิการสามารถดำเนินการต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการที่ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ โดยใช้เอกสาร ดังนี้

  •  บัตรประชาชน
  •  ทะเบียนบ้าน (ถ้ามี)
  •  เอกสารรับรองความพิการ (กรณีมีความพิการเพิ่มหรือ เปลี่ยนไปจากเดิม)
  •  หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล (ถ้ามี)
  • บัตรประจำตัวคนพิการใบเดิม

คำถามที่ 15  ทำบัตรประจำตัวคนพิการต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

คำตอบ : การยื่นขอมีบัตรประจำตัวคนพิการเพื่อยืนยันตัวตน ที่ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนธันวาคม 2567 ก่อนสิ้นสุดโครงการฯ โดยใช้เอกสาร ดังนี้

  •  บัตรประจําตัวประชาชน/สูติบัตรสำหรับบุคคลอายุต่ำกว่าสิบห้าปี
  •  ทะเบียนบ้าน (ถ้ามี)
  •  รูปถ่ายคนพิการ ขนาด 1 นิ้ว (กรณีที่ไม่ได้มายื่นด้วยตนเอง)
  •  เอกสารรับรองความพิการ (กรณีที่พิการเชิงประจักษ์ตามประกาศฯ ไม่ต้องใช้เอกสารรับรองความพิการ)
  • หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล (ถ้ามี)

 
คำถามที่ 16
 คนพิการที่เป็นข้าราชการหรือผู้ต้องขังจะได้สิทธิไหม

คำตอบ : ได้สิทธิตามการรับเบี้ยความพิการ
 
คำถามที่ 17  กรณีที่เบี้ยความพิการเข้าบัญชีผู้ดูแล และผู้ดูแลก็มีสิทธิในสวัสดิการรัฐ จะได้เงินอย่างไร

คำตอบ : ได้รับสิทธิของคนพิการการตามบัญชีเบี้ยที่คนพิการมอบอำนาจ และได้รับสิทธิของตนเอง.

ที่มา: เพจไทยคู่ฟ้า