"กนอ." เตรียมพื้นที่ 8.9 พันไร่ รับการย้ายฐานผลิต หนีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

10 ต.ค. 2567 | 09:28 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2567 | 12:09 น.

"กนอ." เตรียมพื้นที่ 8.9 พันไร่ รับการย้ายฐานผลิตต่างชาติ หนีปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เผยตั้งแต่ต้นปีอนมุติแล้ว 11 นิคมฯ และรออนุมติอีก 3 นิคมฯ ผู้พัฒนานิคมเผยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจีน ไต้หวัน เกาหลีลงทุนไทยโตแบบก้าวกระโดด

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม  2567 จนถึงปัจจุบัน มีนิคมฯ ที่ขอจัดตั้งรวมจำนวน 11 นิคมฯ รวมพื้นที่ประมาณ 8,943 ไร่ ประกอบด้วย

  • ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 5 จัดตั้งใหม่ 3,393 ไร่
  • เฮอร์มีส จัดตั้งใหม่ จำนวนพื้นที่ 1,231 ไร่
  • ปิ่นทอง (โครงการ 7) จัดตั้งใหม่ จำนวนพื้นที่ 1,059 ไร่
  • แอลพีพี นครสวรรค์ จัดตั้งใหม่ จำนวนพื้นที่ 673 ไร่
  • ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3.1 จัดตั้งใหม่ จำนวนพื้นที่ 629 ไร่
  • เวิลด์ (ลําพูน) 2 จัดตั้งใหม่ จำนวนพื้นที่ 621 ไร่
     
  • ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2.1 จัดตั้งใหม่ จำนวนพื้นที่ 595 ไร่
  • อมตะซิตี้ ชลบุรี ขยายพื้นที่ จำนวนพื้นที่ 593 ไร่
  • ดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ขยายโรงงาน จำนวนพื้นที่ 75 ไร่
  • ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ขยายโรงงานจำนวน 40 ไร่
  • เวิลด์ ลําพูน ขยายพื้นที่ จำนวนพื้นที่ 29 ไร่

ส่วนที่อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการ กนอ. มีทั้งหมด 3 แห่งประกอบด้วย 

  • โครงการนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ หนองใหญ่ 2 (จัดตั้งใหม่) พื้นที่ประมาณ 1,302ไร่ 
  • โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 8) (จัดตั้งใหม่) พื้นที่ประมาณ 1,101ไร่ 
  • โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 3) จ.ชลบุรี (ส่วนขยาย) พื้นที่ประมาณ 697ไร่ 

ทั้งนี้ เมื่อรวมพื้นที่โครงการที่อนุมัติไปแล้วและเตรียมอนุมัติในปี 2567 รวม 14 โครงการ จะมีพื้นที่รองรับการลงทุนรวม 12,000 ไร่ และคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนโรงงานประมาณ 480,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการที่อนุมัติล่าสุดเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการ โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 7) ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พื้นที่ 1,059 ไร่ โดย คณะกรรมการ กนอ.เห็นชอบเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2567 

โดยนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 7 เป็นโครงการที่ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตอุตสาหกรรมบนฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และนวัตกรรม โดยรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, โลจิสติกส์, อุตสาหกรรมสะอาด 

รวมถึงอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)

นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 7 จะรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยคาดว่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนและสนับสนุนนโยบาย EEC

นายสุจินต์ เรียนวิริยะกิจ กรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมดำเนินงานกับ กนอ.แล้ว 6 โครงการ โดยเมื่อรวมทั้ง 7 โครงการ จะมีพื้นที่ 86,000 ไร่ ซึ่งจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 2,205 ล้านบาท และจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุน 42,360 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 10,560 คน

นายสุรัช พัฒนวงศ์ยืนยง กรรมการบริหาร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนมากลุ่มอาเซียนมากขึ้น โดยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ จีน ไต้หวันและเกาหลี ต่างเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองมากแบบก้าวกระโดด เพราะจุดเด่นความเป็นไทยเชื้อสายจีนที่สร้างความรู้สึกว่าอยู่เมืองไทยแล้วปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินระยะยาว

โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้เทียบเวียดนามเรื่องสิทธิประโยชน์อาจเทียบไม่ได้ แต่สิทธิในการถือครองที่ดินในไทย 100% ซื้อขายได้เสรีกว่า เพราะมีกฎหมาย กนอ.ต่างจากเวียดนาม ไต้หวันและจีน ที่เมื่อครบกำหนดต้องคืนให้รัฐบาล