"กระทรวงอุตฯ-สคบ." แก้กฏหมายปราบสินค้าไร้มาตรฐาน สร้างความเป็นธรรมให้ SME

08 ต.ค. 2567 | 16:25 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2567 | 16:25 น.

"กระทรวงอุตฯ-สคบ." แก้กฏหมายปราบสินค้าไร้มาตรฐาน สร้างความเป็นธรรมให้ SME มุ่งเพิ่มความสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลก และขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่าน E-Commerce สอดรับนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการป้องกันและปราบปรามสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในตลาดการค้าให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) ไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก และขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่าน E-Commerce ซึ่งเป็นไปตามนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย เพื่อรับโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลก

"กระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินหน้าบูรณาการการทำงานแบบทวีคูณ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมไทยจากการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน" 
 

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า ล่าสุดได้หารือกับ สคบ. บูรณาการความร่วมมือยกระดับการบังคับใช้กฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 

"กระทรวงอุตฯ-สคบ." แก้กฏหมายปราบสินค้าไร้มาตรฐาน สร้างความเป็นธรรมให้ SME

เพื่อควบคุมสินค้านำเข้าภายใต้มาตรฐานบังคับทั้ง 144 มาตรฐาน ครอบคลุมสินค้า 308 รายการ ที่โฆษณาจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องแสดงรายละเอียดสินค้า เครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และ QR code ให้เห็นชัดเจนตามที่กำหนด 

หากฝ่าฝืนผู้นำเข้า ผู้โฆษณา และผู้จำหน่ายต้องได้รับโทษ กรณีผู้นำเข้าไม่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หากเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตแต่ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับสินค้า มีโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท 
 

ส่วนผู้โฆษณาและผู้จำหน่ายมีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ หากพบว่าสินค้านำเข้าในหมวด 144 มาตรฐาน 308 รายการ ที่จำหน่ายในประเทศทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ไม่แสดงรายละเอียดสินค้า เครื่องหมายมาตรฐาน และ  QR code จะเอาผิดทั้งผู้นำเข้า ผู้โฆษณา และผู้จำหน่ายขั้นเด็ดขาดโดยไม่มีการละเว้น 

นอกจากนี้ ยังได้หารือในประเด็นการบังคับให้ผู้นำเข้า ต้องจัดทำคู่มือการใช้งานของสินค้าที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภค โดย สมอ. และ สคบ. อยู่ระหว่างร่วมกันบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อบังคับให้ผู้นำเข้าต้องจัดทำคู่มือการใช้งานภาษาไทย เพื่อความปลอดภัยของประชาชน