“กทพ.” โหมประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ปักธงปั้นรายได้ 600 ล้าน

03 ต.ค. 2567 | 07:29 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2567 | 07:36 น.

“กทพ.” เดินหน้าปลุกพื้นที่เชิงพาณิชย์ใต้ทางพิเศษ-สร้างที่พักริมทาง 8 แสนตร.ว. ดึงเอกชนร่วมทุน PPP สัมปทาน 30 ปีหวังเพิ่มสัดส่วนรายได้ 600 ล้านบาทภายใน 4 ปี พร้อมชงครม.เคาะประมูลที่พักริมทางบางโปรง ภายในปีนี้

KEY

POINTS

  • “กทพ.” เดินหน้าปลุกพื้นที่เชิงพาณิชย์ใต้ทางพิเศษ-สร้างที่พักริมทาง 8 แสนตร.ว.
  • ดึงเอกชนร่วมทุน PPP สัมปทาน 30 ปี หวังเพิ่มสัดส่วนรายได้ 600 ล้านบาทภายใน 4 ปี
  • พร้อมชงครม.เคาะประมูลที่พักริมทางบางโปรง ภายในปีนี้

นอกจากการหารายได้จากการจัดเก็บค่าทางด่วนต่างๆ แล้ว ล่าสุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีแนวคิดดันพื้นที่เชิงพาณิชย์ เนื่องจากมีที่ดินหลายแห่งที่มีศักยภาพเหมาะแก่การลงทุนร่วมกับเอกชน ถือเป็นอีก 1 ช่องทางที่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกทพ.มีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ใต้ทางพิเศษต่างๆ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบที่พักริมทาง (Rest Area)

ทั้งนี้เป็นการเพิ่มสัดส่วนรายได้ นอกจากการหารายได้ผ่านการเก็บค่าทางพิเศษเพียงอย่างเดียว

ขณะเดียวกันได้ตั้งเป้าหมายมุ่งเน้นการหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 200% หรือเพิ่มขึ้น 600 ล้านบาท ภายใน 4 ปี จากปัจจุบันกทพ.มีรายได้อยู่ที่ 300 ล้านบาทต่อปี

“เรามองว่าในปัจจุบันพื้นที่ริมทางพิเศษยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ซึ่งจะต้องให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP เนื่องจากกทพ.ไม่เก่งในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ พบว่ามีพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของกทพ.ประมาณ 2 ล้านตารางวา ซึ่งมีที่ดินเปล่าสามารถทำประโยชน์ได้ ประมาณ 400,000-800,000 ตารางวา โดยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ จำนวน 25 แห่ง เช่น พื้นที่ใต้ทางพิเศษบริเวณถนนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ , พื้นที่ใต้ทางพิเศษบริเวณถนนสีลม ฯลฯ” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของกทพ.เป็นการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางพิเศษเท่านั้น แต่ติดเรื่องข้อกฎหมายของพ.ร.บ.การทางพิเศษฯ พ.ศ. 2550 ทำให้ไม่สามารถเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างที่พักอาศัยได้

ปัจจุบันกทพ.ได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างที่พักริมทางด้วย ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า กทพ.ยังมีโครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษบริเวณบางโปรง พื้นที่ 58 ไร่ วงเงินลงทุน 2,324 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 627 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ 1,697 ล้านบาท

ขณะเดียวกันตามแผนโครงการฯได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กทพ.เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปีนี้

หลังจากนั้นจะเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ภายในปี 2568 สัญญาสัมปทาน 30 ปี

สำหรับโครงการการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษบริเวณบางโปรง ตั้งอยู่บริเวณ กม. 17+300 ของทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ซึ่งเป็นทางพิเศษที่มีปริมาณการจราจรสูงและมีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ เป็นที่พักริมทางที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น พื้นที่จอดรถ สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้า ห้องน้ำ บริการข้อมูลการเดินทาง เป็นต้น

ส่วนโครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษ และ Park and Ride บริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พื้นที่ 80 ไร่ วงเงินลงทุน 2,780 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 706 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ 2,074 ล้านบาท

“ปัจจุบันมองว่าโครงการนี้เอกชนให้ความสนใจน้อย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการ อีกทั้งต้องอาศัยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมลงทุนด้วย ขณะนี้ทราบว่ามีการเปลี่ยนอธิการบดีคนใหม่ ทำให้การหารือมีความล่าช้า หากโครงการไม่มีความพร้อมอาจไม่ดำเนินการ” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาโครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษ และ Park and Ride บริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นโครงการที่ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐในรูปแบบ PPP ซึ่งอยู่บริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต

ทั้งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ใกล้เคียงชุมชนการศึกษาขนาดใหญ่และหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นที่พักริมทางและพื้นที่จอดแล้วจร (Park+&Ride) อยู่ในพื้นที่เดียวกัน

“กทพ.” โหมประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ปักธงปั้นรายได้ 600 ล้าน

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมากทพ.ได้นำร่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ใต้ทางพิเศษเพลินจิต ประมาณ 4.5 ไร่ ซึ่งเป็นการพัฒนาในรูปแบบโครงการผสมผสาน (มิกซ์ยูส) ระหว่างร้านค้า ร้านอาหาร ลานกิจกรรมและพื้นที่สีเขียว

ปัจจุบันได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนเข้ามาใช้บริการฟรี เนื่องจากทางพิเศษเพลินจิตเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงอยู่ใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท

สำหรับพื้นที่โดยรอบมีห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และติดกับรถไฟฟ้าบีทีเอส จากผลการศึกษาคาดว่ากทพ.จะมีรายได้จากการเก็บค่าเช่าที่ประมาณ 4 ล้านบาทต่อปี

เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 ฉบับที่ 4,032 วันที่ 3 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2567