ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มันสำปะหลังมักมีราคาถูกกว่าพืชอาหารที่ให้แป้งประเภทอื่น อีกทั้งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้ความต้องการมันสำปะหลังในตลาดโลกเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้มันสำปะหลังเป็นพืชอาหารที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 5 ของโลกเมื่อพิจารณาจากปริมาณผลผลิตโดยรวม รองจากข้าวโพด ข้าวเจ้า ข้าวสาลี และมันฝรั่ง
ล่าสุดได้เกิดเหตุการณ์ที่ช็อกวงการอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง เนื่องจากช่วง 8 เดือนแรกปี 2567 การส่งออกได้หดตัวลงทั้งปริมาณและมูลค่า กระทบต่อเนื่องถึงเกษตรกรอย่างรุนแรงจากขายหัวมันฯได้ราคาเพียง 1.40 บาทต่อกิโลกรัม ( ณ 30 ก.ย.67)
นายสุรพงษ์ แสงศิริพงษ์พันธ์ นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์การส่งออกมันเส้นช่วง 8 เดือนแรกปี 2567 มีปริมาณเพียง 1.6 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ส่งออกได้ 3.9 ล้านตัน ผลสืบเนื่องจากตลาดจีนที่เป็นตลาดส่งออกหลัก ปัจจุบันเหลือผู้ซื้อมันเส้นในจีนเพียง 3 ราย จากเดิมประมาณ 10 ราย
เนื่องจากราคาข้าวโพดในจีนถูกกว่ามันเส้นมากส่งผลให้โรงงานหันไปใช้ข้าวโพดแทนมันสำปะหลังในการผลิตแอลกอฮอล์ ทำให้มีต้นทุนที่ถูกกว่า โดยหากใช้มันเส้นเป็นวัตถุดิบผลิตต้นทุนจะอยู่ที่ 5,500 หยวนต่อตันขณะที่ใช้ข้าวโพดต้นทุนอยู่ที่ 5,230 หยวนต่อตัน ดังนั้นการส่งออกมันเส้นของไทยในปี 2567 ไม่น่าเกิน 2.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
สำหรับผลผลิตข้าวโพดของจีนในปี 2567 คาดอยู่ที่ 289 ล้านตันจากการสนับสนุนของรัฐบาลที่ลดพื้นที่การปลูกถั่วเหลือง แล้วหันมาปลูกข้าวโพดในประทศทดแทน (จากที่ไม่เคยมีผลผลิตข้าวโพดเกิน 253 ล้านตัน) ทำให้ในประเทศมีข้าวโพดใช้เพียงพอโดยชาวไร่ข้าวโพดจีนจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
“ในส่วนของประเทศไทยถ้ารัฐบาลไม่เร่งช่วยแก้ไขปัญหาโรคใบด่าง จะยิ่งทำให้ผลผลิตนับวันยิ่งถอยหลัง ซึ่งจากการข้อมูลการสำรวจพบว่า ผลผลิตมันสำปะหลังของไทยต่อไร่เฉลี่ยเพียง 2.7 ตันทำให้ผลผลิตในภาพรวมเวลานี้เฉลี่ยลดลงเหลือ 22 ล้านตันต่อปี"
ดังนั้นชาวไร่และภาครัฐต้องประสานความร่วมมือในการยกระดับ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากกว่า 3.5 ตันต่อไร่ เพื่อทำให้ผลผลิตภาพรวมเพิ่มขึ้นมากกว่า 35 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และทำให้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น แต่หากยังยืนกรานว่าจะต้องขายของแพง ต่อไปก็อาจจะไม่มีใครซื้อสินค้า และตอนนี้ก็เผชิญภาวะค่าเงินบาทแข็งทำให้การส่งออกยิ่งยากขึ้นถือเจอปัญหา 2 เด้ง
สำหรับในฤดูกาลผลิต 2567/68 จากรายงานผลผลิตมันสำปะหลังของคณะสำรวจจะเหลือแค่ 22 ล้านตัน จากที่โรงงานแป้งมันมีความต้องการวัตถุดิบถึง 24 ล้านตัน ซึ่งปกติไทยมีการนำเข้ามันเส้นจากประเทศลาวประมาณ1.5 ล้านตันต่อปี หากรัฐบาล สปป.ลาวประกาศห้ามส่งออกเพื่อป้องกันสินค้าในประเทศขาดแคลนในประเทศอีก ปีหน้าโรงงานมันเส้นจะเอาผลผลิตที่ไหนมาส่งออก นี่คือปัญหาที่หนักกว่า
สอดคล้องกับนายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช กรรมการและที่ปรึกษา สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย ที่กล่าวว่าราคาข้าวโพดในประเทศจีนราคาถูกมาก ทำให้มันสำปะหลังแข่งขันยาก โรงงานแอลกอฮอล์หลายแห่งที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ก็หยุดชั่วคราวไปหลายโรง เพราะทำแล้วขาดทุน บวกกับผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศไม่เพียงพอมีเพียง 21-22 ล้านตัน แค่โรงงานแป้งมันใช้อย่างเดียวก็ 24-26 ล้านตัน ไม่รวมโรงงานเอทานอลในเมืองไทยที่ใช้มันเป็นวัตถุดิบไม่ตํ่า 3 ล้านตัน ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องขาดแคลนวัตถุดิบ
“หากพิจารณาแนวโน้มปี 2568 ยังไม่มีสัญญาณบวกโดยเฉพาะต้นทุนเกษตรกรสูงขึ้นจากยังเจอโรคใบด่าง ทำให้อุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่การผลิตที่มีมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท ได้รับผลกระทบจากโรคนี้”
นายชุมพล ขจรเฉลิมศักดิ์ นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ยังคงซื้อหัวมันสำปะหลังตามปกติ แต่ที่ราคาตํ่าเนื่องจากเงินบาทแข็งค่าในรอบ 30 เดือน ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้องปรับราคารับซื้อจากเกษตรกร ซึ่งก็ต้องยอมรับสภาพ
ขณะที่ปัจจุบันโรงงานแป้งมันจากจีน ได้ไปลงทุนที่ สปป.ลาวจำนวนมากจากราคาหัวมันฯถูกกว่า และค่าแรงก็ถูกกว่า ณ ปัจจุบันมีถึง 20 โรงงานแล้วที่เข้าไปลงทุน และมีแผนเพิ่มถึง 30 โรงงาน ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว แต่ยังมั่นใจว่าลูกค้าจะยังซื้อแป้งมันสำปะหลังจากไทยต่อเนื่อง จากยังเชื่อถือในคุณภาพ
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 44 ฉบับที่ 4,032 วันที่ 3-5 ตุลาคม พ.ศ. 2567