แจกเงิน 10000 ล่าสุด ดันจีดีพีอุตสาหกรรม 0.1% หวังหมุนเวียนในระบบเกิน 3 รอบ

27 ก.ย. 2567 | 07:39 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2567 | 23:05 น.

แจกเงิน 10000 ล่าสุด ดันจีดีพีอุตสาหกรรม 0.1% หวังหมุนเวียนในระบบเกิน 3 รอบ เชื่อส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทันที ชี้ระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจส่งสัญญาณเฝ้าระวังมากขึ้น

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า มาตรการแจกเงินสด 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบางของรัฐบาล น่าจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.3% ตามที่กระทรวงการคลังคาดไว้ ซึ่งจะมีผลต่อจีดีพีภาคอุตสาหกรรมประมาณ 0.1% 

ทั้งนี้ จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทันที แต่ต้องติดตามว่าเงินดังกล่าวจะหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจกี่รอบ อย่างไรก็ตาม สศอ.หวังว่าจะหมุนเวียนได้อย่างน้อยประมาณ 3 รอบก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี สศอ.ได้ปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2567 หดตัว 1-0% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 0-1% และอัตราการขยายตัว (จีดีพี) ของภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะหดตัว 0.5% ถึงขยายตัว 0.5% 
 

จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 0.5-1.5% เนื่องจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยมีสัดส่วนสูงถึง 90.8% ของจีดีพี กดดันสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์ใหม่มีอัตราเร่งขึ้น 20% และยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์มือสองมีอัตราเร่งขึ้น 30%

แจกเงิน 10000 ล่าสุด ดันจีดีพีอุตสาหกรรม 0.1% หวังหมุนเวียนในระบบเกิน 3 รอบ

ส่วนหนี้สินภาคธุรกิจมีสัดส่วนสูงถึง 87.6% ของจีดีพี ใกล้เคียงกับหนี้สินภาคครัวเรือน รวมถึงต้นทุนการผลิต และราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูง และสถานการณ์น้ำท่วมที่แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเอ็มพีไอ ซึ่งต่อให้ในช่วงที่เหลือของปีนี้เอ็มพีไอจะเป็นบวกได้ทุกเดือน แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เอ็มพีไอปีนี้ทั้งปีกลับมาเป็นบวกได้ อย่างดีก็ขยายตัวได้แค่ 0% เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลกระทบจากน้ำท่วมเพื่อประเมินความเสียหายอีกครั้ง เพราะยอมรับว่าบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ เช่น การผลิตตัวรถยนต์/รถพ่วง ที่ จ.เชียงราย การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ จ.พะเยา และการแปรรูปสินค้าเกษตร โกดัง จ.สุโขทัย 
 

หากการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมยืดเยื้อ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อการผลิตในภูมิภาค แต่ก็มีบางอุตสาหกรรมได้รับผลดี โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องใช้ทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น รวมทั้งต้องจับตาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ค่าเงินบาท การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการเลือกตั้งของสหรัฐ

นางวรวรรณ กล่าวอีกว่า ระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนกันยายน 2567 ส่งสัญญาณเฝ้าระวังมากขึ้น เนื่องจากเห็นสัญญาณดัชนีการลงทุนภาคเอกชน

และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้น สอดคล้องกับดัชนีเอ็มพีไอเดือนส.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 95.08 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.9% ส่งผลให้ 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 2567) หดตัวเฉลี่ย 1.55%