ภาคอุตสาหกรรมทรุดหนัก "สศอ." หั่นดัชนี MPI ปี 67 เหลือ 1-0% GDP อุตฯ หด 0.5%

26 ก.ย. 2567 | 13:44 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2567 | 13:45 น.

ภาคอุตสาหกรรมทรุดหนัก "สศอ." หั่นดัชนี MPI ปี 67 เหลือ 1-0% GDP อุตฯ หด 0.5% เผย 8 เดือนปี 67 ลดลงเฉลี่ย 1.55% มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย 58.96% ระบุต้องเฝ้าระวังดอกเบี้ยนโยบายจากสถานการณ์เงินเฟ้อของเศรษฐกิจโลกลดลง

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2567 ว่า อยู่ที่ระดับ 95.08 หดตัว 1.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.30%

ทั้งนี้ ส่งผลให้ 8 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวเฉลี่ย 1.55% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 58.96% ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบขยายตัว 8.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดยการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง รวมถึงสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลต่อผู้ประกอบการไทย 

ขณะเดียวกันต้นทุนภาคการผลิตปรับตัวขึ้นตามราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาวะดอกเบี้ยที่ทรงตัว และต้นทุนพลังงานจากราคาน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ทําให้การเดินทาง การจัดส่งสินค้า การค้าชายแดน และการผลิตชะงักลง โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งจําเป็นต้องหยุดดําเนินการ และสถานประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงต้องปิดตัวชั่วคราว 

ภาคอุตสาหกรรมทรุดหนัก "สศอ." หั่นดัชนี MPI ปี 67 เหลือ 1-0% GDP อุตฯ หด 0.5%

นางวรวรรณ  กล่าวอีกว่า จากตัวเลขดัชนี MPI 8 เดือนแรก ปี 2567 หดตัว 1.55% ส่งผลให้ สศอ. ปรับประมาณการ ปี 2567 คาดว่าดัชนี MPI หดตัว 1.0 – 0.0% และการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมหดตัว 0.5% ถึงขยายตัว 0.5% 

โดยมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากสถานการณ์เงินเฟ้อของเศรษฐกิจโลกที่ลดลง ส่งผลนโยบายการเงินในหลาย ๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลาย อัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐปรับตัวลดลง ส่งผลให้เงินทุนไหลออกมายังประเทศในแถบ ASEAN รวมถึงประเทศไทย 
 

ซึ่งคาดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวในช่วงนี้ที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และส่งผลมายังภาคการผลิต โดยเฉพาะด้านอุปโภคและบริโภค เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้า เป็นต้น รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วม กระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในพื้นที่ 

และหากการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมเกิดขึ้นอย่างล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการผลิตในภูมิภาค นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 400 บาท จะกระทบต้นทุนการผลิตของผู้ประประกอบการ และการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา อาจจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องหาแนวทางการรับมือกับนโยบายทางการค้าที่อาจเปลี่ยนแปลง

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนสิงหาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย 

  • สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 41.61% จากปลาทูน่ากระป๋อง เป็นหลัก หลังราคาวัตถุดิบทูน่าปรับตัวลดลง โดยตลาดส่งออกขยายตัว ตามคำสั่งซื้อจากอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อเก็บเป็นสต๊อกสินค้าหลังปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อาจส่งผลกระทบต่อการขนส่ง
  • อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.40% จากอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เช่น อเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ และแคนาดา ขณะที่อาหารปศุสัตว์สำเร็จรูปขยายตัวจาก แนวโน้มราคาจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้น
  • คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.84% จาก Hard Disk Drive เป็นหลัก ตามความต้องการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า รวมถึงความต้องการสินค้าทดแทนสินค้าที่หมดประกันและครบอายุการใช้งาน 

ด้านอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนสิงหาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย 

  • ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.44% จากรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ 
  • ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.84% จาก Integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยเป็นไปตามทิศทางความต้องการสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ในกลุ่มอื่นๆ
  • คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.54% จากผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีตและพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ และความล่าช้าในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ รวมถึงผลกระทบจากน้ำท่วมบางพื้นที่