วิกฤตข้าวญี่ปุ่น ราคาพุ่ง กระทบโรงงานขนม-ร้านอาหาร ดิ้นนำเข้าตปท.

23 ก.ย. 2567 | 06:45 น.

กระทรวงพาณิชย์ วิเคราะห์สถานการณ์ข้าวในประเทศญี่ปุ่น กำลังประสบปัญหาครั้งใหญ่ หลังจากข้าวในประเทศราคาพุ่งสูง กระทบอุตสาหกรรมขนม และร้านอาหาร หันนำเข้าข้าวจากต่างประเทศมากขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กระทรวงพาณิชย์ รายงานสถานการณ์การค้า โดยเฉพาะ "ตลาดข้าว" ในประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดเดือนกันยายน 2567 พบว่า ขณะนี้ ข้าวในประเทศญี่ปุ่น กำลังมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตอนนี้ผู้ประกอบธุรกิจหลายรายที่ต้องการใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบทำขนม หรือผู้ประกอบการร้านอาหาร ได้หันมานำเข้าข้าวจากต่างประเทซเพิ่มมากขึ้น เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า

จากข้อมูลระบุว่า ท่ามกลางการภาวะขาดแคลนข้าว ผู้ผลิตขนมข้าว หรือ “เซมเบะ” หรือที่รู้จักกันในชื่อข้าวเกรียบญี่ปุ่น หลายบริษัทกำลังปรับขึ้นราคาและพิจารณาหาแหล่งวัตถุดิบข้าวใหม่ โดยข้าวชนิดพิเศษที่มีขนาดเล็ก (ข้าวหัก) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตขนมข้าวมีปริมาณลดลงอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบจากสภาวะอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น ในปี 2566 

ขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการสูงขึ้นและราคาก็พุ่งสูงขึ้นด้วย บริษัทต่าง ๆ จึงต้องเร่งปรับราคาสินค้าหรือหันมาใช้ข้าวนำเข้าที่มีการต้นทุนถูกกว่า

สำหรับข้าวหัก (broken rice) หมายถึงเมล็ดข้าวที่แตกหักระหว่างกระบวนการสีข้าว และมีขนาดเล็กกว่า 1.85 มิลลิเมตร โดยทั่วไปมีขนาดเล็กกว่าข้าวสำหรับบริโภค ยังคงมีคุณค่าทางโภชนาการเหมือนข้าวเต็มเมล็ด ซึ่งข้าวหักเกิดขึ้นประมาณไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตข้าว 

ตัวแทนจาก บริษัท Kameda Seika ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้าวหักในปีงบประมาณ 2566 ว่า การจัดหาข้าวยังทำได้ แต่ด้วยปริมาณที่ลดลง ราคาข้าวหักจึงสูงขึ้นมาก สอดคล้องกับ แหล่งข่าวจากบริษัท Sanko Seika ยอมรับว่า การจัดหาทำได้ตามความต้องการ แต่ราคายังคงอยู่ในระดับสูง โดยทั้งสองบริษัทมีชื่อเสียงในการผลิตขนมข้าวอบกรอบ (senbei) และขนมขบเคี้ยวอื่น ๆ ในจังหวัดนีงาตะ 

โดยบริษัทในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักใช้ข้าวหักเป็นวัตถุดิบในขนมที่ทำจากข้าว เช่น เซมเบะ ข้าวเกรียบ Rice Cracker และมิโสะ (Miso) เครื่องปรุงรสที่สำคัญในอาหารญี่ปุ่น มักใช้ในการทำซุปมิโสะ (Miso Soup) นิยมรับประทานในมื้ออาหารด้วยเช่นกัน โดยที่ข้าวหักจะมีช่วงราคาที่กว้างไม่คงที่ และไม่มีข้อมูลราคาขายส่งที่ชัดเจน ข้อมูลจากสมาคมข้าวแห่งชาติญี่ปุ่น พบว่าช่วงหนึ่งราคาขึ้นมาเทียบเคียงใกล้กับข้าวสำหรับบริโภค

อีกเหตุผลหนึ่งคือปริมาณการผลิตข้าวในปี 2566 มีน้อยลงอย่างมาก ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตร ฯ ญี่ปุ่น ปริมาณข้าวในปี 2566 ลดลง 37% เมื่อเทียบกับปี 2565 เหลือ 320,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำที่สุดในรอบ 16 ปี โดยคาดว่าผลผลิตลดลงเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงอย่างผิดปกติในปี 2566 ข้าวในญี่ปุ่นราคาพุ่ง ผู้ผลิตหันมาใช้ข้าวนำเข้า

นอกจากนี้ ในขณะที่ราคาข้าวสำหรับบริโภคสูงขึ้น ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายแห่งได้ใช้ “ข้าวกลาง” (Medium Grain Rice) ซึ่งเป็นข้าวหักที่มีขนาดใหญ่กว่ามาผสมใช้ในธุรกิจอาหาร ส่งผลให้ความต้องการสูงขึ้นและราคาพุ่งขึ้นตามไปด้วย

บริษัท Kameda Seika ซึ่งเดิมใช้ข้าวในประเทศมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันได้หันมาใช้ข้าวนำเข้ามากขึ้น มีแหล่งข่าวจากบริษัทรายใหญ่รายหนึ่ง กล่าวว่า ราคาข้าวในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับข้าวนำเข้า แม้ว่าจะมีผลกระทบจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงก็ตาม 

ทั้งนี้ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอัตราส่วนที่แน่ชัดหรือการขึ้นราคา ซึ่งบริษัท Sanko Seika ก็ได้เพิ่มการใช้ข้าวนำเข้าเช่นกัน มีการดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2567 เพื่อรักษาความเสถียรทางด้านการจัดหา (Supply Chain Stability) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

สำหรับการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงรัฐบาลญี่ปุ่นให้เห็นตัวเลขการจำหน่ายข้าว (Minimum Access : MA) ซึ่งรวมถึงข้าววัตถุดิบสำหรับขนมข้าว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง มิถุนายน 2567 มีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น 92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดยเฉพาะเดือนมิถุนายน 2567 มีการนำเข้า 14,235 ตัน เพิ่มขึ้น 2.3 เท่า การปรับราคาจำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวของบริษัทรายใหญ่ต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น บริษัท Sanko Seika ปรับราคาสินค้าขึ้นประมาณ 20% ในเดือนเมษายน 2567 

ขณะที่บริษัท Echigo Seika ปรับราคาสินค้าในกลุ่ม “Aji no Tsuikyu” หรือผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องปรุงรส ซอสปรุงรส อาหารสำเร็จรูป ราคาสูงขึ้นประมาณ 4-11% ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 เช่นเดียวกับบริษัท Kameda Seika ปรับราคาสินค้าหลัก 17 รายการขึ้นอีก 9-22% เนื่องจากผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงทำให้ข้าวสำหรับแปรรูปมีราคาสูงขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้ากรุงโตเกียว ประเมินว่า สถานการณ์ตลาดข้าวในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าข้าวสำหรับแปรรูปก็มีการปรับตัวขึ้นเช่นกัน ผู้ผลิตขนมข้าวจึงหันมาใช้ข้าวนำเข้ามากขึ้น ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำสัญญานำเข้าข้าวเหนียวและข้าวเจ้าไทยเป็น ข้าว MA จำนวนประมาณ 288,000 ตัน คิดเป็น 47% ของข้าว MA ที่ญี่ปุ่นนำเข้าทั้งหมด 

โดยการนำเข้าข้าว MA ที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเชื่อมโยงกับการนำเข้าข้าวจากไทยที่มากขึ้น อีกทั้งยังมีการผลิตขนมข้าวที่ส่งออกไปญี่ปุ่นจากไทย และการขึ้นราคาขนมข้าวในญี่ปุ่นอาจทำให้ความต้องการขนมข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น