วันนี้(18 กันยายน 2567) นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่าวันนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แอตต้า พร้อมด้วยสมาคมที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวรวมกว่า 20 แห่ง เตรียมเข้าหารือร่วมกับนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)
โดยจะหารือร่วมกันเพื่อให้เร่งยกระดับการท่องเที่ยวไทย ทั้งแหล่งท่องเที่ยว ความปลอดภัย และบุคลากร เพื่อแข่งขันกับต่างชาติ เพราะการท่องเที่ยวเราต้องแข่งกับหลายประเทศ และการท่องเที่ยวถือเป็นหัวใจหลัก ในการดึงรายได้เข้าประเทศไทยด้วย
นายศิษฎิวัชร กล่าวว่า ในฐานะกรรมการสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทยหรือเฟตต้า อยากให้รัฐบาลพิจารณากฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการทำงานของภาคเอกชน มีข้อจำกัดที่มากเกินไปจนไม่สามารถขยับได้
อาทิ การบังคับใช้ระบบใบสั่งงานมัคคุเทศก์ออนไลน์ (Thailand Smart Tour) ที่จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยบริษัทนำเที่ยวต้องจัดทำใบสั่งงานมัคคุเทศก์ ผ่านแพลตฟอร์ม Thailand Smart Tour (TST) และยกเลิกการออกใบสั่งงานมัคคุเทศก์แบบกระดาษโดยสิ้นเชิง หากมัคคุเทศก์ถูกตรวจสอบ จะต้องแสดงใบสั่งงานมัคคุเทศก์ผ่านแอพพลิเคชั่น TST เท่านั้น
จากการทดลองใช้งานพบว่ามีความยุ่งยากจึงอยากให้เลื่อนวันประกาศใช้ออกไปก่อน รวมถึงพิจารณาจัดตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแก้ไข ระเบียบ เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดให้มีการส่งใบสั่งงานมัคคุเทศก์ (Job Order)
เนื่องจากใบสั่งงานมัคคุเทศก์ไม่สามารถป้องกันไกด์เถื่อนต่างชาติได้จริง รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของมัคคุเทศก์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ต้องได้รับโทษทางอาญาเป็นจำนวนมาก
มัคคุเทศก์ที่ทำงานกับบริษัททัวร์มีความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว และปัจจุบันพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไปจากเดิม ที่เคยมีนักท่องเที่ยวกลุ่มทัวร์คิดเป็นสัดส่วน 70% และที่เหลืออีก 30% เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที)
แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวกลุ่มทัวร์คิดเป็นสัดส่วนเหลือเพียง 30% และอีก 70% เป็นเอฟไอที ทำให้การตรวจสอบมัคคุเทศก์จึงไม่น่าจะยากและควรอกแบบระบบที่ดีกว่านี้ รวมถึงเฟตต้าได้จัดทำข้อเสนอผ่านสมุดปกขาวเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวพิจารณาต่อไปด้วย
นายศิษฎิวัชร กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการเสนอรัฐบาลให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว โดยให้นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานการท่องเที่ยวและทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะการท่องเที่ยวมีความเกี่ยวโยงกับหลายภาคส่วน อาทิ ความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกของนักท่องเที่ยวที่ความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยและตำรวจ
รวมถึงสานต่อนโยบายเดิมที่รัฐบาลชุดก่อนทำไว้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) มุ่งไปที่เมืองที่มีความพร้อมทั้งสนามบิน แหล่งท่องเที่ยว โรงแรมก่อน แล้วกระจายไปเมืองรอบๆ ไม่ใช่ส่งเสริมพร้อมกันทั้ง 55 จังหวัด
เพราะในการทำงานมันไม่สามารถทำได้พร้อมกัน จึงอยากให้รัฐบาลสั่งการตรงผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพราะผู้ว่าฯ เป็นคนในพื้นที่จะมีความรู้ความเข้าใจพื้นที่ รู้ว่าจังหวัดใดมีความพร้อมหรือขาดอะไร ควรพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ห้องน้ำ หรือระบบอำนวยความสะดวกอย่างไร
ขณะที่มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือค่าเหยียบแผ่นดิน ให้ชะลอไปก่อน เนื่องจากช่วงนี้นักท่องเที่ยวกำลังฟื้นกลับมา ประกอบกับไทยยังต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว เพราะจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เกิดความไม่สะดวกใจในการเดินทางเข้าไทยและเปลี่ยนไปท่องเที่ยวในประเทศอื่น
เนื่องจากการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในปัจจุบันมีความรุนแรงมากกว่าเดิมแล้ว ทำให้การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาท มองว่าไม่คุ้มกับรายได้ที่เราจะได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 40,000 – 50,000 บาทต่อคนต่อทริปที่จะเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ
ส่วนในอนาคตหากมีนักท่องเที่ยวถึง 70 – 80 ล้านคน ค่อยเริ่มเก็บค่าเหยียบแผ่นดินดีกว่า เพื่อที่จะชะลอการเดินทางของนักท่องเที่ยวไม่ให้ส่งผลกระทบกับความสามารถในการรองรับของประเทศไทย