"กนอ." รุกยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่การพัฒนา-โตอย่างยั่งยืน

17 ก.ย. 2567 | 06:19 น.

"กนอ." รุกยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่การพัฒนา-โตอย่างยั่งยืน เดินหน้าตาม 3 แนวทาง ชี้ต้องออกแบบการดำเนินงานที่มุ่งผลลัพธ์ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีความร่วมมือร่วมกัน การผนึกกำลังของภาคอุตสาหกรรม

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่การพัฒนา รวมถึงเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ความเป็นธรรมในสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมอ 3 แนวทางประกอบด้วย 

  • การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม (Inclusive Industrialization) เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มในสังคมมีส่วนร่วมและเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมความหลากหลายในการทำงาน 
  • การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Industrialization) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเจริญเติบโตที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว 
     
  • การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย (New Industrialization) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพและมูลค่า ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมใหม่

"กนอ." รุกยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่การพัฒนา-โตอย่างยั่งยืน

โดยดำเนินการผ่าน ISB Forum & Awards 2024 ซึ่งเป็นโครงการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่เกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ กนอ. ปี 2567 (I-EA-T Sustainable Business 2024) ภายใต้หัวข้อ Inclusive and Sustainable Industrialization Towards New Growth หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครอบคลุมและยั่งยืนสู่การเติบโตครั้งใหม่

เชื่อว่าผู้ประกอบการต่างมีกิจกรรมโครงการเพื่อสังคม รวมถึงความรู้ความชำนาญ และทรัพยากรที่สนับสนุนลงไปยังชุมชนโดยรอบ หากมีการพัฒนาออกแบบแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งผลลัพธ์ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีความร่วมมือร่วมกัน การผนึกกำลังของภาคอุตสาหกรรมจะพลิกวิกฤติ ช่วยสร้างโอกาสการพัฒนาสังคมเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจับต้องได้ คุ้มค่า และเป็นรูปธรรม” 
 

นายสุเมธ กล่าวว่า โครงการ ISB ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อส่งเสริมความพร้อมของผู้ประกอบการในการยกระดับมาตรฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ในระดับสากล 

โดยในปี 2567 กนอ. ขยายผลกลุ่มเป้าหมายไปสู่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ซึ่งผลจากการดำเนินงานของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ISB ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีการสนับสนุนงบประมาณในกิจกรรมทางสังคม รวม 575.87 ล้านบาท และเกิดผลตอบแทนทางสังคม (SROI) สูงถึง 4.87 เท่า คิดเป็นมูลค่ารวม 2,801.46 ล้านบาท