ชำแหละ สัญญา "ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน" แบงก์การันตี 1.7 แสนล้าน

17 ก.ย. 2567 | 06:00 น.

“อีอีซี” ทะลวงสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เปิดแพ็คเกจใหม่ ดึงแบงก์การันตี 1.7 แสนล้านบาท เซฟดอกเบี้ยรัฐจ่ายคืน 3 หมื่นล้านบาทต่อปี เดินหน้าปักธงตอกเสาเข็มต้นปี 68 มั่นใจเปิดให้บริการปี 72

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เบื้องต้นการเจรจาแก้ไขสัญญาตกลงในหลักการได้ข้อสรุปในเรื่องหนังสือค้ำประกันเพิ่มเติม

 รายละเอียดการแบ่งจ่าย หลักๆ จะเป็นการจ่ายตามงวดงานที่แล้วเสร็จและมีการตรวจรับงานแล้ว รวมถึงการโอนทรัพย์สินแต่ละงวดงานที่เสร็จเป็นของรัฐทันที โดยเอกชนยังคงดูแล บำรุงรักษาและบริหารตามระยะเวลาสัญญา 50 ปี 

ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังรับทราบแล้วในกรณีที่จ่ายอุดหนุนค่างานโยธา วงเงินประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เร็วขึ้นจะช่วยประหยัดค่าดอกเบี้ยลง เฉลี่ยรัฐจ่ายคืน 3 หมื่นล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ตามแผนอีอีซีตั้งเป้าหมายเริ่มดำเนินการก่อสร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินภายในต้นปี 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี หลังจากนั้นจะทดสอบระบบประมาณ 1 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2572 

สำหรับเงื่อนไขใหม่หลังลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุน เบื้องต้นเอกชนต้องวางแบงก์การันตีเพิ่มเติม ประกอบด้วย หนังสือค้ำประกันค่าก่อสร้างวงเงินประมาณ 120,000 ล้านบาท (แบ่งเป็นหนังสือค้ำประกัน 5 ใบ ใบละ 24,000 ล้านบาท) บวกกับหนังสือค้ำประกันค่างานระบบเพิ่มอีก 16,000 ล้านบาท

ขณะที่ค่าก่อสร้างงานโยธาจะแบ่งจ่ายไปตามงวดงาน คือเมื่อสร้างเสร็จ และ รฟท.ตรวจรับงานจึงจะจ่ายคืนค่าก่อสร้าง ในขณะที่เอกชนต้องโอนทรัพย์สินในงวดงานนั้นให้ รฟท. ทันที และเมื่องานก่อสร้างที่แล้วเสร็จ มีมูลค่างานรวมกันถึง 24,000 ล้านบาท รฟท.จะคืนแบงก์การันตีใบแรกให้เอกชน และทำเช่นเดียวกันไปจนก่อสร้างเสร็จ
 

ส่วนทรัพย์สินที่เอกชนโอนกรรมสิทธิ์ให้รฟท.นั้น เอกชนจะต้องรับผิดชอบดูแลซ่อมบำรุงตลอดอายุ 50 ปี เป็นการปิดความเสี่ยง หากเกิดกรณีเลิกสัญญากลางทาง ทรัพย์สินที่สร้างไว้แล้วเป็นของ รฟท. และยังมีแบงก์การันตีที่เอกชนวางไว้ที่สามารถนำมาประมูลหาผู้รับเหมา ก่อสร้างต่อได้จนเสร็จ

เมื่อก่อสร้างโยธาแล้วเสร็จ รฟท.จะคืนหลักประกันให้เอกชนจำนวน 4 ใบ ใบละ 24,000 ล้านบาท ส่วนใบที่ 5 จะเก็บไว้ก่อนรวมกับหลักประกันค่างาน วงเงิน 16,000 ล้านบาท ไว้จนกว่าจะทดสอบระบบเรียบร้อยและเปิดเดินรถได้สมบูรณ์

ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันกรณีทดสอบระบบไม่ผ่าน เปิดเดินรถไม่ได้ รฟท.ยังมีเงินที่จะหาผู้เดินรถใหม่ ตลอดจนป้องกันความเสียหายของรัฐ

ทั้งนี้หลักประกันค่าก่อสร้างและงานระบบจะคืนให้เอกชนเมื่อเปิดเดินรถเรียบร้อย โดยเอกชนจะต้องนำหลักประกันใหม่ วงเงิน 750 ล้านบาท มาวางแทน เพื่อรับประกันคุณภาพการเดินรถตลอดระยะเวลา 10 ปี

ด้านการชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) จำนวน 10,671.09 ล้านบาทตามสัญญาเดิมต้องจ่ายงวดเดียว ต่อมามีการเจรจาแบ่งชำระเป็น 7 งวด

โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย ซึ่ง กพอ.ได้เห็นชอบและรายงาน ครม.รับทราบไปก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้พบว่าเงื่อนไขใหม่สรุปล่าสุด ค่าสิทธิ์จำนวน 10,671.09 ล้านบาท แบ่งจ่าย 7 งวด งวดละเท่าๆ กัน (งวดละ 1,524 ล้านบาท) ที่ผ่านมาเอกชนชำระไปแล้ว วงเงิน 1,067.10 ล้านบาท

หากแก้ไขสัญญาเอกชนต้องจ่ายเพิ่มอีก 456.9 ล้านบาท เพื่อให้ครบงวดแรก รวมทั้งวางหนังสือค้ำประกันที่เหลืออีก 9,147 ล้านบาท โดยวางเป็นหลักประกันไว้ 6 ใบ ใบละประมาณ 1,524 ล้านบาท

สำหรับแพ็กเกจด้านการเงินของบจ.เอเชียเอราวัน (ซีพี) ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ประกอบด้วย

1. หลักประกันสัญญา วงเงิน 4,500 ล้านบาท ตลอดสัญญา 50 ปี

2. หนังสือค้ำประกัน ผู้ถือหุ้น วงเงิน 160,000 ล้าน ตลอดสัญญา 50 ปี

3. หนังสือค้ำประกันค่าก่อสร้าง วงเงิน 120,000 ล้านบาท

4. หนังสือค้ำประกันค่างานระบบ วงเงิน 16,000 ล้านบาท

5. หนังสือค้ำประกันคุณภาพเดินรถ วงเงิน 750 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี

6. หนังสือค้ำประกัน ค่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) รวมกับชำระงวดที่ 1 ที่เหลือ วงเงิน 9,147 ล้านบาท

นอกจากนี้ตามสัญญาเดิมเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ (PIC) คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันไม่น้อยกว่า 119,425 ล้านบาท ซึ่งคิดมาจากมูลค่างานก่อสร้าง (งานโยธา + งานราง) กำหนดจ่ายค่าร่วมลงทุนในปีที่ 6-ปีที่ 15

หรือเมื่อก่อสร้างโครงการเสร็จเปิดเดินรถแล้ว โดยทยอยจ่ายเป็นเวลา 10 ปี ปีละเท่าๆ กัน คิดเป็นวงเงินรวมที่รัฐต้องจ่าย คือ 150,000 ล้านบาท (การทยอยจ่าย 10 ปี ทำให้มีดอกเบี้ยที่รัฐต้องรับภาระอีกประมาณ 30,000 ล้านบาท)

ในเงื่อนไขสัญญา ระบุว่า กรณีที่รัฐจะนำทรัพย์สินที่เอกชนสร้างมาใช้ได้ต้องโอนก่อน ดังนั้นหากมีการก่อสร้างไปแล้วเกิดปัญหาขึ้น ระหว่างทางทรัพย์สินที่ก่อสร้างไว้ยังเป็นสิทธิ์ของเอกชน รัฐหรือ รฟท.ไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ ต้องฟ้องศาลเพื่อจ่ายค่าโครงสร้างที่เอกชนสร้างไว้

เรียกว่า เงื่อนไขเดียวกับโฮปเวลล์ที่เอกชนเกิดเลิกทำ แล้ว รฟท.ไม่สามารถนำโครงสร้างเสาตอม่อมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะเอกชนไม่ได้มีการโอนกันทรัพย์สินให้ รฟท.

ตามข้อกำหนดเดิม เรื่องหลักประกันสัญญา เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันโดยธนาคาร หรือแบงก์การันตี ดังนี้

1. เมื่อมีการลงนามสัญญา เอเชีย เอราวัน วางหลักประกันสัญญา มูลค่า 2,000 ล้านบาท (ดำเนินการแล้ว)และหลังจากออก NTP เริ่มก่อสร้าง เอกชนจะต้องวางหลักประกันสัญญาเพิ่มอีก 2,500 ล้านบาท ทำให้มูลค่าหลักประกันสัญญารวมเป็น 4,500 ล้านบาท

2. หนังสือค้ำประกัน ผู้ถือหุ้น (ดำเนินการแล้ว) ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เพื่อตกลงร่วมรับผิดชอบโครงการไปตลอดอายุสัญญา 50 ปี มูลค่ารวม 160,000 ล้านบาท

นอกจากนี้เอกชนจะต้องกู้เงินมาเพื่อลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งสิ้น 200,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างงานโยธา งานราง ระบบและค่าดอกเบี้ย 160,000 ล้านบาท และค่าลงทุน พัฒนาพื้นที่มักกะสัน (TOD) ประมาณ 40,000 ล้านบาท