"อนุสรณ์" ชี้เฟดลดดอกเบี้ย 3 รอบปีนี้-ปลายปีเหลือ 4-4.50%

16 ก.ย. 2567 | 09:44 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2567 | 09:44 น.

"อนุสรณ์" ชี้เฟดลดดอกเบี้ย 3 รอบปีนี้-ปลายปีเหลือ 4-4.50% ด้านธนาคารกลางยุโรปอาจปรับลดลงได้อีก 1.50-1.75% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะมีการปรับลดอย่างน้อย 0.25% ปลายปีนี้

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด (FED) น่าจะลดดอกเบี้ยในวันที่ 18 ก.ย. 

และส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอีกสองครั้งในปีนี้ โดยดอกเบี้ยปลายปีอาจลงไปอยู่ที่ระดับ 4.0-4.50% ได้ และคาดการณ์ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯขาลงครั้งนี้อาจปรับตัวลดลงได้มากถึง 2-2.25% 

ทั้งนี้ อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องไปจนถึงกลางปีหน้าหากอัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมาย 2% 
 

"ปัจจัยดอกเบี้ยขาลงของสหรัฐฯและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 18 กันยายนนี้ จะส่งผลทำให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องและเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลก"

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปอาจปรับลดลงได้อีก 1.50-1.75% ในอัตราดอกเบี้ยขาลงรอบนี้ โดยก่อนหน้านี้ธนาคารกลางยุโรปมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 0.25% มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน 

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ปลายปีนี้ หลังจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย เศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรงจากภัยพิบัติอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ

ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวและมีการเปิดเสรีทางการเงิน มีเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างเสรี มีข้อจำกัดน้อย หากทางการต้องการรักษาความสมดุลภายใน (เงินเฟ้อและการว่างงานต่ำ) และความสมดุลภายนอก (ดุลการชำระเงินสมดุล) 

นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต่างมีประสิทธิผลในการเพิ่มรายได้ประชาชาติหรือจีดีพีและการจ้างงาน ยิ่งมีการเปิดเสรีมาก ประสิทธิผลของนโยบายการเงินยิ่งมาก ขณะที่ผลของมาตรการทางการคลังลดลง นโยบายการเงินนั้นจะมีประสิทธิผลสูงในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิผลดีนักในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ 

อย่างไรก็ดี มาตรการคลังสามารถมีเป้าหมายเพื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ทั้งสองระบบ แต่จะมีประสิทธิผลในการแก้ปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าในระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ส่วนการแก้ปัญหาความสมดุลภายนอกนั้น ควรปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับค่าตามกลไกตลาดจนดุลการชำระเงินสมดุล 

กรณีประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแบบมีการจัดการอย่างไทย ภาครัฐควรใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคต่างๆเพื่อเป้าหมายความสมดุลภายใน และใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในการเอื้ออำนวยให้ดุลการชำระเงินปรับตัวเข้าสู่ความสมดุลภายนอก