กังขา ถมทะเลสร้างเกาะอ่าวไทย กันน้ำท่วม หรือ ยกแผ่นดินให้ต่างชาติ

13 ก.ย. 2567 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 16:07 น.

อภิมหาโปรเจกต์โครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย ถมทะเลสร้าง 9 เกาะ ยาว 100 กิโลเมตร ตั้งแต่บางขุนเทียน จนไปถึงจังหวัดชลบุรี มีข้อกังขาต้องชัดเจน ป้องกันน้ำท่วม กทม. หรือพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ ยกแผ่นดินให้ต่างชาติ

วันที่ 13 กันยายน 2567 ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการบริษัทในเครือวี-เซิร์ฟ กรุ๊ป รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (ECONTHAI) เปิดเผยบทความวิชาการ : โครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทยถมทะเลสร้างเกาะเทียม ต้องชัดเจนเพื่อป้องกันน้ำท่วม กทม. หรือพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ มีเนื้อหาระบุว่า

วิสัยทัศน์จากเวที Vision for Thailand 2024 เมะโปรเจ็กต์ใหญ่ภายใต้ชื่อ “โครงการสร้อย ไข่มุกอ่าวไทย” ถมทะเลอ่าวไทยตอนล่างรูป “ก” สร้างเกาะเทียมขยายพื้นที่ชายฝั่ง เพื่อสร้างเมืองใหม่และหวังให้เป็นพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมในอนาคต เป็นแนวคิดของพรรคเพื่อไทย ได้มีการวางแผนและศึกษาไว้นาน แล้วตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ต่อมา “รัฐบาลแพทองธาร” ปัดฝุ่นเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยระบุเพื่อป้องกันน้ำท่วม กทม. แนวคิดมีการถมทะเลเพื่อสร้างเกาะเทียมจำนวน 9 เกาะพร้อมติดตั้งประตูน้ำระยะทางยาว 100 กม. โดยแต่ละเกาะมีเขื่อนเป็นแนวกั้นน้ำและมีประตูเปิด-ปิด และสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำ 4 สายที่ไหลลงอ่าวไทย (แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำท่าจีน, แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง)  

แนวคิดนี้เพื่อป้องกันน้ำท่วมบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง โดยเกาะแรกเริ่มชายทะเล เขตบางขุนเทียน (กทม.) บริเวณชายฝั่งทะเล จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 5 เกาะ โดย 2 เกาะอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา มี 1 เกาะใกล้กับปากน้ำบางประกง และอีก 2 เกาะอยู่ที่จังหวัดชลบุรี โดยเกาะสุดท้ายคือเกาะที่ 9 จะอยู่บริเวณอำเภอเมืองชลบุรี

โครงการประกอบด้วย ถมทะเลสร้างเกาะเทียม 9 เกาะ ห่างจากชายฝั่งประมาณหนึ่งกิโลเมตร แต่ละเกาะมีพื้นที่ประมาณ 30 - 50 ตารางกิโลเมตร มีการสร้างคันกั้นน้ำและประตูเชื่อมระหว่างเกาะ ตั้งแต่บางขุนเทียน จนไปถึงจังหวัดชลบุรี ระยะทางรวม 100 กิโลเมตร มีการสร้างเมืองอัจฉริยะ หรือ “สมาร์ทซิตี้” มีรถไฟฟ้าวิ่งเชื่อมแต่ละเกาะ 

หากมีการลงทุนจริง จะมีการใช้เงินมากที่สุดเท่าที่เคยมีการลงทุน ใช้เวลาสร้างกว่า 20 ปี เป็นโครงการที่ใช้เงินในการก่อสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่ประเทศไทยเคยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

การถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่-พื้นที่อุตสาหกรรมและท่าเรือในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ มีการถมทะเลมากกว่า 106 เมืองทั่วโลก เช่น เมืองดูไบ เนเธอร์แลนด์ เขตเศรษฐกิจ พิเศษฮ่องกง ประเทศสิงคโปร์ มีการถมทะเลสร้างพื้นที่ใหม่ “มารินา เบย์” และท่าเรือ 

สำหรับประเทศจีนมีโครงการ “String of Pearl” หรือยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุกมาตั้งแต่ปี 2522 มีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษปากน้ำจูเจียงหรือแม่น้ำไข่มุก มีการถมทะเลสร้างพื้นที่ใหม่ เช่น ที่นครเซินเจิ้น เซี่ยเหมิน ซัวเถา จูไห่ กวาง โจว เฉพาะการถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่ที่นครเซียงไฮ้ เนื้อที่ 350 ตารางกิโลเมตร 

ขณะที่ประเทศกัมพูชา มีโครงการ “Bay of Lights” ที่จังหวัดพระสีหนุวิลล์ ถมทะเลพื้นที่ 5,604 ไร่ เพื่อพัฒนาโครงการชายฝั่งที่ใหญ่สุด มีการสร้างโรงแรม ห้างสรรพสินค้า สนามกอล์ฟและที่อยู่อาศัย เงินลงทุน 5.44 แสนล้านบาท พัฒนาโดยนักธุรกิจจีนมาตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันโครงการชะงักเพราะขาดแหล่งทุน นอกจากนี้ที่กัมพูชายังมีโครงการถมทะเลจังหวัดเรียมและเมืองสาครบุรี โดยนักธุรกิจจีนได้รับสัมปทาน 99 ปี

ข้อกังวลโครงการเมกะโปรเจกต์ถมทะเลบางขุนเทียน ซึ่งตามกำหนดการจะเป็นพื้นที่แรกที่จะดำเนินการบริเวณนี้เป็นพื้นที่รับน้ำธรรมชาติ ป่าชายเลนอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เอื้อต่อการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ อาจกระทบเส้นทางระบายน้ำและระบบนิเวศน์ชายฝั่ง 

บางขุนเทียนเป็นพื้นเดียวของกรุงเทพฯ ที่อยู่ติดกับทะเลและเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เป็น "พื้นที่รับน้ำ" ตามธรรมชาติ ปัจจุบันเป็นพื้นที่นา กุ้ง ปู ปลา หอย เพาะเลี้ยงด้านเกษตรกรรมที่เป็นน้ำกร่อย หากจะมีการขับเคลื่อนโครงการจริงตามแนวนโยบายดังกล่าวและผลักดันการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ประการสำคัญ

ประเด็นคือต้องชัดเจนว่า “โครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย” วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชั้นใน กทม. หรือต้องการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ หากวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันน้ำท่วม ทำไมจะต้องไปถมทะเลตั้งแต่บางขุนเทียนไปถึงจังหวัดชลบุรีและสร้างเกาะเทียมถึง 9 เกาะ พร้อมทั้งมีเขื่อนกั้นทะเลระยะทางถึง 100 กิโลเมตร 

โดยนัยจะสร้างเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่-เมืองอัจฉริยะและเป็นแลนมาร์คใหม่ของประเทศไทย พร้อมทั้งเปิดสัมปทานให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนระยะเวลา 99 ปี ซึ่งแน่นอนว่าคงเป็นนักธุรกิจจีนเหมือนกับที่ไปลงทุนในกัมพูชาและหลายประเทศ ทำให้พื้นที่เช่ากลายเป็นพื้นที่ของจีน ซึ่งหลายประเทศก็ไม่ได้ผลประโยชน์อย่างชัดเจน

การถมทะเลบางขุนเทียน รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง เป็นเส้นทางเดินเรือหลัก หรือ “Maritime Gateway” แต่ละปีจะมีสินค้านำเข้า-ส่งออกมากกว่า 12 ล้าน TEUs ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือคลองเตย และท่าเรือหลักต่าง ๆ รวมทั้งเป็นเส้นทางสินค้าเกษตรและเรือขนส่งน้ำมัน 

ประการสำคัญเป็นพื้นที่ประมงอ่าวไทยตอนล่างและเป็นพื้นที่มีชายฝั่งสวยงาม การสร้างเกาะเทียมและเขื่อนยาวเป็นร้อยกิโลเมตรจะส่งผลกระทบทางนิเวศน์ทางทะเลและชายฝั่งอย่างไร เป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะข้อกังวลคือจะกระทบต่อกระแสน้ำและการเดินเรือหรือไม่ 

ประเด็นเหล่านี้เป็นความเปราะบางทั้งด้านเศรษฐกิจ ระบบนิเวศน์ทางทะเลและการครอบงำจากทุนนิยมต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนและยกแผ่นดินไปให้เขาครอบครองถึงเกือบร้อยปี