กระทรวงเกษตรฯ เตรียมชง 4 ภาระกิจงานเร่งด่วน ให้รัฐมนตรีคนใหม่

06 ก.ย. 2567 | 04:00 น.

เปิดวาระเร่งด่วน 5 หน่วยงานสำคัญ กระทรวงเกษตรฯ เตรียงชง “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง-รักษาเสถียรภาพราคายาง-ทิศทางสินค้าเกษตรครึ่งปีหลัง –ทุเรียนปนเปื้อนแคดเมียม” ให้รัฐมนตรีป้ายแดง เร่งสานต่อ เน้นดูแลเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการ ช่วยลดอุปสรรคทางการค้า

หลัง ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 4 ก.ย.67 ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่าตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม แต่งตั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แล้ว หนึ่งในคณะรัฐมนตรี ที่จะมาบริหารงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้หญิงคนที่ 2 ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์  ก่อนหน้านั้นทำหน้าที่เป็นผู้แทนการค้าไทย ได้มีประสบการณ์ในการทำงานภาคเกษตรมาแล้ว ทั้งยางพารา และเรื่องอื่นๆ มาบ้างแล้ว มีเรื่องอะไรบ้างที่รัฐมนตรีจะต้องมาสานต่อเนื่อง

 

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมชง 4 ภาระกิจงานเร่งด่วน ให้รัฐมนตรีคนใหม่

อันดับ 1  โครงการ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” งบประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท เสนอโดย  “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน (เกษตรที่ปลูกข้าวทั่วไปประมาณ 4.48 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 54 ล้านไร่ และเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ประมาณ 2 แสนครัวเรือน พื้นที่ 1.20 ล้านไร่) จะเดินหน้า หรือ ล้ม หรือจะมีการปรับเปลี่ยนโครงการหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องใหญ่ชาวนากำลังรอคำตอบ

อันดับ 2. โครงการรักษาสถานภาพราคายางพารา โดย การยางแห่งประเทศไทย ได้เสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) 3  เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1 ขออนุมัติโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินสินเชื่อ 3 หมื่นล้านบาท 2.ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ  10,000 ล้านบาท และ 3.ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงินสินเชื่อ 5,000 บาท รวม 45,000 ล้านบาท  

 

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมชง 4 ภาระกิจงานเร่งด่วน ให้รัฐมนตรีคนใหม่

 

นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” กล่าวยืนยันว่าไทยมีความพร้อมกว่า 80% ในการสนับสนุนเกษตรกร ผู้ประกอบการ ในการจัดหาวัตถุดิบ ตลอดจนช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถผลิตยางได้ตามมาตรฐาน EUDR รวมถึงมาตรฐานอื่นๆ เช่น FSCTM และ PEFCTM การดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิตในสวนยาง และการพัฒนาสวนยางแบบเกษตรกรรมยั่งยืน (วนเกษตร) นอกจากนี้ กยท. ยังผลักดันให้เกิดโครงการโฉนดต้นยางพาราเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตยางในพื้นที่ดังกล่าว

อันดับ 3.สินค้าเกษตรครึ่งปีหลัง  

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2567 ในครึ่งปีหลัง ภาวะเอลนีโญที่สิ้นสุดลง ทำให้มีปริมาณฝนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ประกอบกับการดำเนินนโยบายในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร การยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับภัยพิบัติต่าง


ตลอดจนการเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านต่าง ๆ เพื่อการวางแผนและรองรับความเสี่ยง นอกจากนี้ เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการบริโภคและการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง อาทิ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลง รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนปัจจัยภายนอก อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น คาดว่าจะทำให้จีดีพีภาคเกษตรคาดจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.2 – 1.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 


สาขาพืช หดตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 จากผลกระทบของเอลนีโญที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปี 2566 มาจนถึงช่วงเมษายน 2567 ทำให้มีปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดลง บางพื้นที่ประสบปัญหาสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้พืชเจริญเติบโตช้า ให้ผลผลิตน้อยและไม่สมบูรณ์ สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดปัตตาเวีย ยางพารา ลำไย และทุเรียน ซึ่งข้าวนาปี ผลผลิตลดลงในทุกภูมิภาค เนื่องจากมีปริมาณฝนน้อยในช่วงเพาะปลูก เกษตรกรบางรายปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้รอบเดียว ข้าวนาปรัง ผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรในบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง หรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือพืชผักแทน 


“มันสำปะหลัง” ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรยังประสบปัญหาขาดแคลนท่อนพันธุ์อย่างต่อเนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งในปี 2566 ทำให้ท่อนพันธุ์ดีหายากและมีราคาสูง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ให้ว่างหรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น สับปะรด ยางพารา ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ภาวะแห้งแล้งยังทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ สับปะรดปัตตาเวีย ผลผลิตลดลง เนื่องจากในช่วงเพาะปลูกต้นสับปะรดได้รับน้ำไม่เพียงพอ ผลเจริญเติบโตช้าและมีขนาดเล็กลง 

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมชง 4 ภาระกิจงานเร่งด่วน ให้รัฐมนตรีคนใหม่


“ยางพารา” ผลผลิตลดลง เนื่องจากพื้นที่ปลูกบางส่วนในภาคใต้ยังคงมีการระบาดของโรคใบร่วง ประกอบกับเกษตรกรในภาคใต้และภาคกลางบางส่วนมีการตัดโค่นต้นยางอายุมากที่ให้ผลผลิตน้อย และปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลและปาล์มน้ำมันทดแทน ลำไย ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรในภาคเหนือและภาคตะวันออกมีการโค่นต้นลำไยอายุมากที่ให้ผลผลิตน้อยไปปลูกพืชอื่นแทน เช่น ทุเรียน ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนสลับหนาว ส่งผลกระทบต่อการออกดอกและติดผลของลำไย และทุเรียน ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดและแปรปรวน รวมถึงปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ต้นทุเรียนที่กำลังจะออกดอก มีการติดดอกออกผลลดลง และผลทุเรียนบางส่วนร่วงหล่นเสียหาย

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมชง 4 ภาระกิจงานเร่งด่วน ให้รัฐมนตรีคนใหม่

สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน มังคุด และเงาะ โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง จูงใจให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีค่อนข้างน้อย ทำให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปรังและเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน 


นอกจากนี้ยังมีเรื่องการผลักดันนโยบายการอำนวยความสะดวกด้านการเกษตรเป็นผล ส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร หรือ Agricultural Service Provider ช่วยเกษตรกรที่สนใจได้ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยด้วยตนเอง พร้อมกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพิ่มเติมเป็นครั้งแรก
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมชง 4 ภาระกิจงานเร่งด่วน ให้รัฐมนตรีคนใหม่

นอกจากจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรทางด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะนายทะเบียน ดำเนินการออกระเบียบฉบับใหม่เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเกี่ยวกับการประกอบกิจการในด้านการเกษตร พ.ศ. 2567 ได้ผ่านประชาพิจารณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่เร่งสานต่อ

เก็บตัวอย่างวิเคราะห์ทุเรียนแคดเมียม


อันดับสุดท้าย  เรื่องการปนเปื้อนแคดเมียมในผลไม้สด (เนื้อทุเรียน) ตามมาตรฐาน GB 2762-2022 ไม่เกิน 0.05 mg/kg,ในคุณภาพดินอ้างอิงตามมาตรฐาน GB 15618-2018 ไม่เกิน 1.5-4 mg/kg ในคุณภาพน้ำอ้างอิงตามมาตรฐาน GB 3838-2002 ไม่เกิน 0.01 mg/L เป็นมาตรฐานใหม่ที่จีนบังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานโคเด็กซ์  ทั้งนี้ มาตรฐานโคเด็กซ์ไม่ได้ระบุในผลไม้ที่มีเปลือก ในนานาชาติยังไม่ได้กำหนด ยกเว้นในผักและมะเขือเทศ เท่านั้น ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ไม่ได้กำหนดไว้ในมาตรฐานนี้ ดังนั้นเป็นเรื่องใหม่ทั้งระบบ

 

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมชง 4 ภาระกิจงานเร่งด่วน ให้รัฐมนตรีคนใหม่

ก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีเหมืองแร่เก่า ดังนั้นจะต้องทำความชัดเจนใหม่ โดยกรมวิชาการเกษตรร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดิน เก็บข้อมูลดินทั่วประเทศ เช่นเดียวกับสารชุบทุเรียน ก็จะมีคำสั่งให้เก็บทั่วประเทศอีกครั้ง แม้ว่าในครั้งตรวจแล้วไม่ค่ามาตรฐานก็จะนำวิธีเก็บของ อย.มาใช้ ส่วนเรื่องสวมสิทธิ์ ที่ไปตัดตู้ แล้วไปเกิดเหตุที่ต่างประเทศไม่ใช่ประเทศไทยก็ไม่ทิ้งประเด็นนี้ ก็เป็นสมติฐานที่มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน 

 

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมชง 4 ภาระกิจงานเร่งด่วน ให้รัฐมนตรีคนใหม่
อย่างไรก็ดี เรื่องต่างๆ ทางผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร ก็จะส่งต่อให้รัฐมนตรีรับทราบและแนวทางการแก้ปัญหาที่ผ่านมาของกรมวิชาการเกษตร 15 วัน เริ่มวันที่  2-16 กันยายน 2567 เพื่อค้นหาความจริงการปนเปื้อนมาจากที่ไหนกันแน่ เพื่อให้ได้ผลสรุปโดยเร็วที่สุด จึงได้มีการออกมาตรการต่างดังต่อไปนี้ 

1.เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจะทำการสุ่มเก็บตัวอย่างทุเรียน ณ วันที่เจ้าหน้าที่ด่านเข้าสุ่มตรวจศัตรูพืชก่อนส่งออก จำนวน 5 ลูกและบรรจุลงกล่องปิดสนิท
2. ในพื้นที่จังหวัดชุมพรให้ผู้ประกอบการนำกล่องหัวอย่าง จากข้อ 1 ไปรวม จุดรวม จุดรวดรวมรวมเตียวที่ตลาดมรกต ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่มาบริการรับตัวอย่าง เวลา 9.00-12.00 น.
3. ค่าใช้จ่ายค่าทดสอบและค่าขนส่งตัวอย่างละ 1,200 บาท
4. ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ให้ผู้ประกอบการนำกล่องตัวอย่าง จากข้อ 1 ไป ส่งตัวอย่างห้องปฏิบัติการเอง เช่น รถตู้สาธารณะหรือบริษัทขนส่งอื่นๆ

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมชง 4 ภาระกิจงานเร่งด่วน ให้รัฐมนตรีคนใหม่
5. ค่าใช้จ่ายค่าทดสอบตัวอย่างละ 800 บาท
6. ตรวจวิเคราะห์หาสารแคดเมียมหลังจากได้รับตัวอย่างพร้อมออกใบรายงานผลการทดสอบภายใน 72 ชม. (3 วัน)
7. ค่าใช้จ่ายในการทดลอบห้องปฏิบัติการจะประสานผู้ประกอบการเอง
8. การแจ้งผลการพดลอบห้องปฏิบัติการเอกชนจะแจ้งให้ผู้ประกอบการและกรมวิชาการเกษตรทราบผ่านอีเมลและนำส่งผลทดสอบฉบับจริงให้ผู้ประกอบการทราบภายหลัง