แรงงานเอสเอ็มอี ทำใจสัญญาณ “เลิกจ้าง” รุนแรงมากขึ้น

01 ก.ย. 2567 | 10:12 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2567 | 10:19 น.

สศช. เปิดรายงานภาวะสังคมไทย จับตาประเด็นด้านแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญ ในปี 2567 โดยเฉพาะแรงงานเอสเอ็มอี กำลังมีความเสี่ยงกับสัญญาณ “เลิกจ้าง” ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงประเด็นด้านแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไปในปี 2567 โดยเฉพาะกลุ่ม "แรงงานเอสเอ็มอี" ว่า ขณะนี้ผลกระทบของการขาดสภาพคล่องของเอสเอ็มอี (SMEs) และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นต่อการจ้างงาน โดยเอสเอ็มอี เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก และในปี 2566 มีสัดส่วนของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ถึง 35.2% 

สศช.มองว่า ปัจจุบัน เอสเอ็มอี กำลังประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมของเอสเอ็มอี ในไตรมาสสี่ ปี 2566 ที่อยู่ที่ 7.2% เพิ่มขึ้นจาก 4.6% ในไตรมาสหนึ่ง ปี 25623 เป็นผลมาจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและระดับหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจมากขึ้น

อีกทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังส่งผลต่อต้นทุนและเป็นข้อจำกัดในการรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ โดยดัชนีต้นทุนของธุรกิจรายย่อย (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง (Medium) ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 15.1% และ 2.2% ตามลำดับ ทำให้เอสเอ็มอี สามารถทำกำไรได้ลดลง 

สถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลต่อเนื่องไปสู่ การเลิกจ้าง แรงงานเอสเอ็มอี ได้ จึงอาจต้องมีการดำเนินนโยบายที่สามารถสร้างกำลังซื้อได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการควบคุมต้นทุนด้านต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการโดยเฉพาะด้านการเงินให้แก่เอสเอ็มอี

นอกจากนี้ยังต้องติดตามการปรับตัวของแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดยปัจจุบันภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการพัฒนาการทำงานเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทั้งกับคู่แข่งภายในและภายนอกประเทศ 

โดยรายงาน Future of Job Report 2023 ของ World Economic Forum (WEF) พบว่า 44% ของทักษะแรงงานจะหายไปในอีก 5 ปีข้างหน้า อีกทั้ง ภายในปี 2027 งานในภาคธุรกิจกว่า 42% จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ และจะนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก แรงงานจึงต้องปรับตัวให้ทันเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว 

รายงานยังระบุอีกว่า ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) และทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในทักษะหลัก (Core Skill) ขณะที่ทักษะด้านความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี (Technological Literacy) เป็นทักษะที่มีความสำคัญมากขึ้นเป็นอันดับที่ 3 

สำหรับทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี ผลการสำรวจของไมโครซอฟต์ประเทศไทยร่วมกับ LinkedIn ยังพบประเด็นเพิ่มเติมว่า ผู้บริหารในไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI และกว่า 90% เลือกที่จะจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อยแต่มีทักษะด้านการใช้ AI แทนการเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์สูงกว่าแต่ขาดทักษะในด้านนี้อีกด้วย