น้ำท่วมเหนือ ศก. ยับ 4 พันล้าน เตือนธุรกิจ-รง.รับมือน้ำหลาก นาข้าวจม 5 แสนไร่

28 ส.ค. 2567 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2567 | 11:32 น.

น้ำท่วมภาคเหนือ ทุบเศรษฐกิจเสียหายแล้ว 4,200 ล้าน หอการค้าเตือนประชาชน ภาคธุรกิจ โรงงานพื้นที่เสี่ยงลุ่มเจ้าพระยาอย่าประมาท สทนช. เฝ้าระวังพายุเข้า 1-2 ลูก มั่นใจไม่ซ้ำรอยปี 54 กรมส่งเสริมการเกษตรเผยฤดูฝนปี 67 นาข้าวเสียหายกว่า 5 แสนไร่ ชาวนาจี้เร่งจ่ายชดเชย

จากอิทธิพลของร่องมรสุม / หย่อมความกดอากาศต่ำ / มรสุมที่พัดผ่านประเทศไทย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา (กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศไทยเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่ 20 พ.ค.) มีพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งสิ้น 44 จังหวัด เข้าสู่ภาวะปกติ 39 จังหวัด สถานการณ์ ณ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ และสุโขทัย ขณะที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะซ้ำรอยปี 2554

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์น้ำท่วมหนักทางภาคเหนือในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวิเคราะห์จากมวลน้ำที่ไหลผ่านลงมาจะเห็นได้ว่ามี 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เชียงราย พะเยา สุโขทัย เพชรบูรณ์ แพร่ และน่าน ส่วนทางภาคกลาง กรุงเทพฯและปริมณฑล คาดว่าในขณะนี้จะสามารถบริหารจัดการได้อยู่ คงไม่ถึงขั้นวิกฤตเหมือนปี 2554 อย่างไรก็ตามยังคงต้องเฝ้าระวังพายุลูกใหม่ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญ

ทุบ ศก.เสียหายแล้ว 4,200 ล้าน

ทั้งนี้ หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกรณีสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ภาคเหนือ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ส.ค. 67) เบื้องต้นประมาณ 4,217 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.0.2% ของ GDP โดยมีสมมติฐานว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายภายใน 15 วัน ซึ่งภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“แม้ความเสี่ยงของการเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2567 จะน้อยกว่าปี 2554 แต่ประชาชน ภาคธุรกิจ และโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยงบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาควรเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยต้องติดตามสถานการณ์น้ำและประกาศจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ส่วนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ควรมีการจัดทำแผนธุรกิจต่อเนื่อง และวางแผนการดำเนินธุรกิจในสภาวะน้ำท่วมพร้อมทั้งกำหนดบทบาทและหน้าที่ของพนักงานในภาวะฉุกเฉิน”

ทั้งนี้ สำหรับจังหวัดที่มีสถานการณ์น้ำท่วมที่คลี่คลายแล้ว หอการค้าฯ กำลังประสานกับเครือข่ายในการให้ความช่วยเหลือ ซ่อมแซม และฟื้นฟู ให้ธุรกิจต่าง ๆ กลับมาเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว และเชื่อว่าจะมีความช่วยเหลือจากภาคอื่น ๆ ตามมาอีก

 

แนะรัฐตั้งศูนย์บริหารน้ำส่วนหน้า

ประธานฯหอการค้าไทย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก สร้างผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตของภาคการเกษตรที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในระยะสั้นหอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในการติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นเซ็นเตอร์ในการสั่งการ กำกับดูแล และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันทำแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะจะช่วยให้ปลดล็อกการทำงานข้ามกระทรวงและหน่วยงานได้สะดวกและชัดเจน

รวมถึงรื้อฟื้นแผนการวางระบบบริหารจัดการน้ำในอดีตที่รัฐบาลได้เคยนำเสนอไว้ โดยเฉพาะแผนจัดการส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยามาปรับปรุงและเร่งผลักดันโครงการที่สามารถดำเนินการได้ก่อนผ่านงบประมาณปี 2568 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับภาคเกษตรและประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที

ในระยะกลาง-ยาว เสนอให้รัฐบาลจัดเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดการบูรณาการมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนา ปรับปรุง และซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดย่อมในแต่ละชุมชนให้เป็นแหล่งกักเก็บสำหรับภาคการเกษตรและการอุปโภคบริโภคในแต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึงตลอดทั้งปี โดยเร่งรัดดำเนินโครงการผ่านงบประมาณปี 2568 ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิต และสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยได้มากยิ่งขึ้น

น้ำท่วมเหนือ ศก. ยับ 4 พันล้าน เตือนธุรกิจ-รง.รับมือน้ำหลาก นาข้าวจม 5 แสนไร่

สทนช.เฝ้าระวัง-ย้ำไม่ซ้ำรอยปี 54

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2567 จะไม่ซ้ำรอยมหาอุทกภัยปี 2554 เพราะ 1.ปริมาณฝนสะสมทั่วประเทศ ตั้งแต่ (ม.ค.-20 ส.ค. 67) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี 2. 4 เขื่อนหลัก (ภูมิพล, สิริกิติ์, แควน้อยบำรุงแดน, ป่าสักชลสิทธิ์) ยังรองรับน้ำได้อีก 12,071 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และพายุคาดว่าจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก ช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคม

เทียบปี 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ มีฝนตกต่อเนื่อง สูงกว่าค่าปกติ 24% และมีพายุเข้าถึง 5 ลูก ในขณะนั้น 4 เขื่อนหลักข้างต้น รองรับน้ำได้เพียง 4,647 ล้าน ลบ.ม. เมื่อพิจารณาภาพรวมสถานการณ์ในปีนี้จะไม่รุนแรงเหมือนปี 2554 แต่ได้สั่งการให้หน่วยงานมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อรองรับสถานการณ์กรณีหากมีพายุจรพัดผ่านเข้ามาด้วย

ปัจจุบันปริมาณน้ำในจังหวัดน่านได้ระบายลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ และปริมาณน้ำใน จ.เชียงราย และพะเยา ได้ระบายลงสู่แม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง มวลน้ำที่เหลือส่วนใหญ่จึงเป็นปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำยม ปล่อยน้ำไหลผ่าน อ.วังชิ้น จ.แพร่ ประมาณ 1,700 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงใช้การบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์(อ.สวรรคโลก) เพื่อระบายน้ำออกทางคลองต่าง ๆ

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

“พิจารณาโดยรวมแล้วจะไม่เกิดผลกระทบรุนแรงเหมือนปี 54 แต่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามเฝ้าระวังพายุหมุนเขตร้อนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่ามีโอกาสเคลื่อนตัวเข้ามาได้ 1-2 ลูก ในช่วงฤดูฝนนี้ และดำเนินการตามข้อสั่งการได้ที่ได้รับอย่างเคร่งครัด” นายสุรสีห์ กล่าว

ฝนปีนี้นาข้าวเสียหายกว่า 5 แสนไร่

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ตั้งแต่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน (20 พ.ค. 67) ถึง ณ วันที่ 27 ส.ค. 2567 มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 32 จังหวัด มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 100,280 ราย พื้นที่รวม 626,582 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 527,357 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 75,415 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ 24,260 ไร่ ซึ่งการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามระเบียบกระทรวงการคลัง ข้าว อัตราไร่ละ 1,340 บาท, พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท

สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2567 ข้อมูล ณ วันที่ 21 ส.ค. 2567 ข้าวนาปี พื้นที่นอกเขตชลประทานทั้งประเทศ มีแผน 45.43 ล้านไร่ ปลูกไปแล้ว 40.52 ล้านไร่ คิดเป็น 89% ส่วน 22 จังหวัด ลุ่มเจ้าพระยา มีแผน 5.71 ล้านไร่ ปลูกไปแล้ว 5.88 ล้านไร่ คิดเป็น 107%

จี้เร่งจ่ายเยียวยา-แจกพันธุ์ข้าว

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ล่าสุดได้รับรายงานจากกรรมการของสมาคมฯที่อยู่ในแต่ละจังหวัด มีนาข้าวของเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมาก เฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดน่านที่เพิ่งปลูกข้าวได้เดือนกว่า รวมถึงนาข้าวในพื้นที่จังหวัดแพร่ พะเยา เชียงราย สุโขทัยก็ได้รับความเสียหายจำนวนมาก อยากให้ภาครัฐเร่งสำรวจความเสียหาย และจ่ายเยียวยา รวมถึงการจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว และปุ๋ยช่วยเกษตรกรในการทำนารอบใหม่หลังน้ำลด

“ผลผลิตข้าวทางภาคกลาง ตอนนี้กำลังเริ่มเก็บเกี่ยว กลางเดือนกันยายนนี้ก็น่าจะหมดแล้ว ทุ่งรับน้ำ เช่น ทุ่งผักไห่ ทุ่งบางบาล ได้เร่งเคลียร์พื้นที่เพื่อรับมวลน้ำจากภาคเหนือที่จะไหลลงมา”

เร่งฟื้นฟูแหล่งเที่ยว 5 จังหวัด

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากที่มีสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา และสุโขทัย และอยู่ในช่วงฟื้นฟูและการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ในภาพรวมสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่เสียหาย เพื่อให้สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้โดยเร็ว

“วันที่ 28 สิงหาคมนี้ ผมจะลงพื้นที่เพื่อร่วมประชุมรับทราบถึงผลกระทบ และมาตรการที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเยียวยา โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดน่าน กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ผู้ประกอบการและสมาคมท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดน่าน ร่วมหารือมาตรการในการฟื้นฟู โปรโมท และการจัดกิจกรรม อีเว้นท์ต่าง ๆ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวได้มั่นใจในการกลับท่องเที่ยวได้ดังเดิม”

ถนนรอซ่อม-กทม.พร้อมรับมือ

ขณะสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อการสัญจร โดยกรมทางหลางมีรายงาน (ณ 27 ส.ค. 67) ว่า ถนนหลายเส้นทางถูกตัดขาด ทางหลวงผ่านไม่ได้ จำนวนมากและต้องเข้าไปประเมินความเสียหายเพื่อซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดีพร้อมใช้งานหลังน้ำลด

โดยพบว่าทางหลวงถูกน้ำท่วมจำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแพร่ จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดสุโขทัย รวม 7 สายทาง จำนวน 18 แห่ง ขณะการจราจรผ่านไม่ได้ 16 แห่ง

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในจุดฟันหลอ บริเวณท่าน้ำวังหลังเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนของน้ำเหนือไม่ได้กังวลเท่าไร เป็นห่วงเรื่องฝนตกหนักในพื้นที่ กทม. มากกว่า แต่ก็ไม่ประมาท ได้เตรียมกระสอบทรายไว้ 1.5 ล้านลูก โดยสำนักการระบายน้ำนำไปเรียงแล้ว 2.5 แสนลูก ตามจุดฟันหลอที่ยังไม่สามารถก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4022 วันที่ 29 -31 สิงหาคม พ.ศ. 2567