AOT เผยสนามบินเชียงราย เชียงใหม่ ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคเหนือ

23 ส.ค. 2567 | 13:22 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2567 | 15:54 น.

AOT เผยสนามบินเชียงราย เชียงใหม่ ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคเหนือ ทั้งจัดเตรียมแผนการรองรับไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้านคมนาคมเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมทั่วไทย รวม 35 จังหวัด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ในภาคเหนือในขณะนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท. ได้รายงานว่าจากเหตุน้ำท่วมและดินถล่มนั้น ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ได้จัดเตรียมแผนการรองรับไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

AOT เผยสนามบินเชียงราย เชียงใหม่ ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคเหนือ

โดยท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและบริหารจัดการน้ำภายในสนามบิน โดยการขุดลอกระบบระบายน้ำแบบเปิด ซึ่งเป็นคูระบายน้ำโดยรอบพื้นที่ท่าอากาศยาน และจัดเตรียม เครื่องสูบน้ำด้านทิศเหนือที่ใช้บริหารจัดการน้ำภายในสนามบินเชียงรายให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา และมีการตรวจสอบประตูน้ำว่าสามารถใช้งานได้ปกติ

นอกจากนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบกายภาพ และติดตามสถานการณ์น้ำท่วมโดยรอบพร้อมประเมินสถานการณ์และรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งได้จัดเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค  รวมถึง ยารักษาโรคใน “ถุงยังชีพ” ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยเหลือ บรรเทาภัยผู้ประสบภัยน้ำท่วมภายในพื้นที่

ขณะเดียวกันท่าอากาศยานเชียงใหม่ ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นำอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของจำเป็นในการยังชีพ แจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือในการยังชีพในเบื้องต้น และหลังจากนั้นจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป

 

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมยังได้มอบหมายและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทลจากอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสั่งเปิด “ศูนย์ Command Center ภัยพิบัติกระทรวงคมนาคม” ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการ สั่งการ รับแจ้งเหตุ ประสานข้อมูลการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายใน และภายนอกกระทรวงฯ เพื่อบูรณาการการรายงานผลในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดนั้น มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมหลายแห่ง ซึ่งต้องเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่เสี่ยง รวม 35 จังหวัด ดังนี้

ภาคเหนือ 12 จังหวัด ประกอบด้วย

  • เชียงราย
  • เชียงใหม่
  • แม่ฮ่องสอน
  • ตาก
  • ลำปาง
  • พะเยา
  • น่าน
  • แพร่
  • สุโขทัย
  • อุตรดิตถ์
  • พิษณุโลก
  • เพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ประกอบด้วย

  • เลย
  • หนองคาย
  • บึงกาฬ
  • หนองบัวลำภู
  • อุดรธานี
  • สกลนคร
  • นครพนม

ภาคตะวันตก 4 จังหวัด ประกอบด้วย

  • กาญจนบุรี
  • ราชบุรี
  • เพชรบุรี
  • ประจวบคีรีขันธ์

ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ประกอบด้วย

  • นครนายก
  • ปราจีนบุรี
  • จันทบุรี
  • ตราด

ภาคใต้ 8 จังหวัด ประกอบด้วย

  • ระนอง
  • พังงา
  • ภูเก็ต
  • สุราษฎร์ธานี
  • นครศรีธรรมราช
  • ตรัง
  • พัทลุง
  • สตูล