ลงทุนไทยทะลัก 8 แสนล้าน สูงสุดรอบ 10 ปี บีโอไอจ่อถกรัฐบาลใหม่ดัน 7 อุตฯผงาดโลก

23 ส.ค. 2567 | 07:00 น.

บีโอไอมั่นใจ ขอรับส่งเสริมลงทุนไทยปี 67 พุ่งไม่ต่ำ 8 แสนล้าน สูงสุดรอบ 10 ปี หลัง FDI ยังไหลเข้าต่อเนื่อง เตรียมหารือรัฐบาลใหม่ 3 เรื่องใหญ่ ดัน 7 อุตฯ ผงาดโลก บิ๊กเอกชน จี้ติดตามผลงาน “เศรษฐา” ดึงลงทุน 5.5 แสนล้านเป็นจริง ชี้โจทย์ใหญ่ GDP ไทยขยายตัวต่ำไม่ดึงดูดลงทุน

ข้อมูลสภาพัฒน์ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จีดีพีหรือเศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียง 1.9% โดยที่ภาคการส่งออกเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักยังอ่อนแรง ขยายได้เพียง 2.0% การลงทุนภาครัฐ การบริโภคในประเทศยังชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีภาคการลงทุน อีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน และมีผลต่อการขยายตัวของการส่งออกไทยในอนาคต ในส่วนการลงทุนของภาคเอกชนไทยยังชะลอตัวจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก กดการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยโดยเฉลี่ยเหลือเพียง 59-60% แต่อีกด้านหนึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ยังมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง

ทุนเอเชียทะลักของส่งเสริม

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติในภาพรวมครึ่งปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้น 64% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% ในจำนวนนี้เป็นคำขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ (FDI) จำนวน 889 โครการ เพิ่มขึ้น 83% เงินลงทุนรวม 325,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16%

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากบริษัทในทวีปเอเชีย โดย 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดได้แก่ สิงคโปร์ 90,996 ล้านบาท จีน 72,873 ล้านบาท ฮ่องกง 39,553 ล้านบาท ญี่ปุ่น 29,987 ล้านบาท และไต้หวัน 29,453 ล้านบาท ส่วนลำดับรองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซีย และไอร์แลนด์ สำหรับการลงทุนของสิงคโปร์ที่แซงจีนขึ้นอันดับ 1 เกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของโครงการที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 139,725 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน 39,883 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร 33,121 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 25,344 ล้านบาท และดิจิทัล 25,112 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือขยะที่มีจำนวนมากถึง 225 โครงการ เงินลงทุนรวม 75,475 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูง ล้วนเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญ และเป็นสาขาที่ไทยมีความพร้อม

อุตฯแห่งอนาคตแห่ไหลเข้า

ขณะเดียวกันในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มีการลงทุนในหลายกิจการที่น่าสนใจที่มาขอรับส่งเสริม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคต เช่น กิจการดาต้าเซ็นเตอร์ 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,289 ล้านบาท กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,543 ล้านบาท กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) 31 โครงการ เงินลงทุนรวม 39,732 ล้านบาท กิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือระบบ Automation 69 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,271 ล้านบาท เป็นต้น

800

“การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีแนวโน้มที่ดี ประเทศไทยยังคงได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนให้เป็นหมุดหมายสำคัญของการลงทุนในภูมิภาคนี้ คาดทั้งปี 2567 จะมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี”

มีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน ทั้งปัจจัยพื้นฐานที่ดีของไทย แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตและการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า ซึ่งประเทศไทยมีจุดยืนที่เป็นกลาง ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพของไทยในระยะยาว

ส่วนปัจจัยทางด้านการเมือง นักลงทุนทราบดีว่า ทุกรัฐบาลล้วนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และพร้อมช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ จึงเชื่อมั่นว่าทิศทางการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงปี 2567-2568 จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

พลังงานสะอาดอีกปัจจัยดูดลงทุน

นอกจากนี้ การที่บริษัทชั้นนำทั่วโลกล้วนตั้งเป้าหมายเข้าสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emission ทำให้เกิดความต้องการด้านพลังงานสะอาด ซึ่งไทยมีศักยภาพด้านแหล่งพลังงานสะอาดอันดับต้นๆ ของภูมิภาค และอยู่ระหว่างการจัดทำกลไกการจัดหาพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็น Utility Green Tariff (UGT) หรือ Direct PPA ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในระยะยาว

เตรียมหารือรัฐบาลใหม่ 3 เรื่อง

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนไทยให้ขยายตัวต่อเนื่อง บีโอไอได้เตรียมหารือกับรัฐบาลใหม่ โดยเตรียมข้อเสนอใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย

1.ข้อเสนอให้เน้นการพัฒนา Ecosystem เพื่อสร้างขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุน และเตรียมพร้อมรองรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะ 5 เรื่องสำคัญ คือ (1)การจัดทำกลไกพลังงานสะอาดในราคาที่เหมาะสม (2)การเร่งขยาย FTA เปิดตลาดการค้า–การลงทุน โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป (EU ) (3)การเตรียมบุคลากรทักษะสูง (Talent) รองรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะ Semiconductor, PCB, Digital ขั้นสูง (4)การปฏิรูปกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อสร้างความสะดวกในการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย และ (5)การขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ๆ

2.ข้อเสนอเรื่องการดึงการลงทุนเชิงรุก โดยเน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นฐานการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว 7 สาขา ประกอบด้วย อุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญ 2 สาขา คือ เซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 5 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพและพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทและชิ้นส่วนสำคัญ อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดิจิทัล โดยเฉพาะดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ที่มีมาตรฐานระดับโลก กิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและศูนย์กลางบุคลากรทักษะสูง (Talent) ของภูมิภาค

3.ข้อเสนอมาตรการสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้ยกระดับประสิทธิภาพและมาตรฐานโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างโอกาสการร่วมทุน และผลักดันให้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมใหม่

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ที่สำคัญ คือ 1.ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ (Geopolitics) ที่จะส่งผลต่อการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนและการเคลื่อนย้ายฐานการผลิต 2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality & Net Zero ทำให้บริษัทต่าง ๆ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ส่งผลให้มีการปรับตัวในกระบวนการผลิตและเทคโนโลยี

3.กฎระเบียบกติกาภาษีใหม่ของโลก (Global Minimum Tax) ส่งผลต่อการวางแผนการลงทุน และการเลือกแหล่งลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องจ่ายภาษีขั้นต่ำ 15% ตามหลักเกณฑ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 ซึ่งมีผลต่อการวางแผนการลงทุน ซึ่งยุทธศาสตร์ของไทยต้องตอบโจทย์ต่าง ๆ ข้างต้นด้วย

ต่างชาติชะลอเร่งสร้างเชื่อมั่น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของทั้งคนไทยและต่างประเทศ เป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่ เวลานี้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศชะลอการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากความไม่มั่นใจในอนาคตของประเทศไทย ไม่ใช่เพียงแค่เศรษฐกิจในปัจจุบันที่เติบโตช้าและต่ำกว่าศักยภาพ ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจ ให้กลับมา โดยเฉพาะความต่อเนื่องและชัดเจนของนโยบายรัฐ ที่สำคัญ เช่น EEC ถือเป็นสิ่งสำคัญ

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“เวลานี้ขนาดคนไทยยังไม่ลงทุนเอง แล้วจะหวังอะไรกับต่างชาติมาลงทุน ดังนั้นเราต้องใช้โอกาสนี้ในการเรียกความเชื่อมั่นกลับมา โดยเฉพาะจุดที่ประเทศไทยแข่งขันได้ ทั้ง Food Tourism Wellness หรือ Logistics ที่ได้วางแผนเป็นฮับภูมิภาคไว้ต้องต่อเนื่อง”

นอกจากนี้คือการเปิดประตูการค้า และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องเดินหน้าสานต่อ โดยมีการกำหนดกระทรวงหรือผู้รับผิดชอบขึ้นเพื่อติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด ร่วมกับการเดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศ เพื่อให้การส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือไม่ต่ำกว่า 2% ต่อเนื่องจากที่ช่วงก่อนหน้านี้ไปเชิญชวนให้มีการเจรจาและเชิญหลายบริษัทมาลงทุนที่ประเทศไทย

จี้ตามผล“เศรษฐา”ดึงลงทุน 5.5 แสนล้าน

“บีโอไอได้แจ้งตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งแรกยังขยายตัวต่อเนื่อง ถือเป็นสัญญาณที่ดีจากการเดินหน้ามาตรการต่าง ๆ รวมถึงการโรดโชว์ต่างประเทศของอดีตนายกฯ เศรษฐาที่คาดจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามา 5.5 แสนล้านบาท ในเรื่องนี้ต้องมีคนติดตามต่อเนื่องว่าจะมาลงทุนจริงอย่างไร ทั้งนี้หากรัฐบาลจะเป็นเซลล์แมนจะต้องปิดการขายให้ได้ด้วย” นายสนั่น กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยมีจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 2% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพและไม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นในระยะกลางและระยะยาว เป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องวางกลยุทธ์สำหรับประเทศ เพื่อทำให้จีดีพีของไทยเติบโตไม่ต่ำกว่า 3 - 5% ต่อปี

เร่งลดต้นทุนจูงใจลงทุน

ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในการรองรับการลงทุน จากทั้งในและต่างประเทศ แต่เวลานี้การลงทุนของภาคเอกชน มีต้นทุนที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขัน ทั้งวัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน รวมถึงค่าจ้างขั้นต่ำที่กำลังจะปรับขึ้นเป็น 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งหวังรัฐบาลจะหาแนวทางในการทำให้ต้นทุนต่าง ๆ เหล่านี้ลดลง ขณะเดียวกันต้องทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความมั่นให้กับนักลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจากอเมริกา และยุโรป ที่มีความอ่อนไหวต่อเสถียรภาพทางการเมือง ส่งผลให้ชะลอการลงทุนในเวลานี้เพื่อรอดูสถานการณ์

หน้า 1หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4021 วันที่ 25 – 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567