ปลุกแผน W-MAP 8.8 พันล้าน เส้นทางทางน้ำ เชื่อมเรือโดยสารกทม.-ปริมณฑล

09 ส.ค. 2567 | 08:00 น.

“สนข.” เปิดแผน W-MAP วงเงิน 8.8 พันล้านบาท เร่งพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จ่อชงครม.ไฟเขียวภายในปีนี้ หวังยกระดับเส้นทางเดินเรือโดยสารที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในอนาคต

KEY

POINTS

  • “สนข.” เปิดแผน W-MAP วงเงิน 8.8 พันล้านบาท เร่งพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล
  • จ่อชงครม.ไฟเขียวภายในปีนี้ หวังยกระดับเส้นทางเดินเรือโดยสารที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในอนาคต

ปัจจุบันการเดินทางทางน้ำถือเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันพบว่าเส้นทางเดินเรือไม่เพียงพอต่อผู้ใช้บริการ ส่งผลให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ดันแผนศึกษาพัฒนาการเดินทางทางน้ำ (W-MAP) ครอบคลุมการเดินทางได้สะดวกมากขึ้น ทั้งระบบล้อ-ราง-เรือ

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการศึกษาแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ W-MAP (ปี 2567-2575) ระยะทางรวม 112.9 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 8,871 ล้านบาท ปัจจุบันสนข. ได้ดำเนินการปรับปรุงแผนปฏิบัติการฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ตามแผนกระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการฯ ที่ สนข. จัดทำเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 และได้มีหนังสือนำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปีนี้

หลังจากนั้นจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนฯต่อไป ที่ผ่านมาสนข.ได้มีการศึกษาแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ (แผนระดับ 3) โดยสนข.ได้เสนอแผนดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566

โดยที่ประชุมมีมติ ให้ สนข. แจ้งเวียนแผนปฏิบัติการฯให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเห็น รวมทั้งรับข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับปรุงแผนปฏิบัติการฯ ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนนำเสนอ กระทรวงคมนาคมและคระรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ

ขณะเดียวกันสนข. ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์พิจารณาให้ความเห็นต่อแผนปฏิบัติการฯ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำรวจจุดเชื่อมต่อท่าเรือโดยสารคลองแสบแสบ ซึ่งมีแนวเส้นทางขนานกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามข้อเสนอแนะจากที่ประชุมฯ ด้วย

ทั้งนี้ในปัจจุบันพบว่ามีท่าเรือโดยสาร จำนวน 103 แห่งและจุดเชื่อมต่อ 8 จุด สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 61,129 คนต่อวัน หากแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายในระยะสั้นและระยะยาวจะทำให้มีท่าเรือเพิ่มขึ้นเป็น 357 ท่า และมีจุดเชื่อมต่อเพิ่มขึ้นเป็น 64 จุด

สำหรับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ W-MAP ระยะสั้น ปี ปี 2567-2570 ระยะทางเพิ่มขึ้น 56.2 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 4 เส้นทาง ประกอบด้วย

S1 เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าว ช่วงสายไหม-พระโขนง ระยะทาง 25.7 กม. จำนวน 23 ท่าเรือ ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนช่วงระหว่างประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ – คลองแสนแสบ โดยมีความกว้าง 40 เมตร ความลึก 2.5 เมตร คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2568-2570

S2 เส้นทางเดินเรือในคลองแสนแสบ ช่วงวัดศรีบุญเรือง-วัดบำเพ็ญใต้ ระยะทาง 6.8 กม. จำนวน 13 ท่าเรือ ปัจจุบันได้รับงบประมาณปี 2567 และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างเขื่อนช่วงทางด่วนเฉลิมมหานคร – คลองตัน โดยมีความกว้าง 20 - 35 เมตร ความลึก 2.5 เมตร ความยาว 24.0 กม. คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2567-2569

S3 เส้นทางเดินเรือในคลองบางกอกน้อย ช่วงประตูน้ำฉิมพลี-ศิริราช ระยะทาง 17.1 กม. จำนวน 18 ท่าเรือ ปัจจุบันมีเขื่อนตลอดริมฝั่งคลองทั้งสองฝั่งแล้ว โดยมีความกว้างความกว้าง 40 เมตร ความลึก 2.5 เมตร ความยาว 17.1 กม.ทั้งนี้กทม.และกรมเจ้าท่า (จท.) จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2567

และ S4 เส้นทางเดินเรือในคลองเปรมประชากร ช่วงท่า SCG -ท่าสวนสาธารณะ ปตท. 6.6 กม. จำนวน 7 ท่าเรือ ปัจจุบันมีการก่อสร้างเขื่อนเสร็จสิ้น 80 % โดยมีความกว้าง 12 - 30 เมตร ความลึก 2.5 – 3.0 เมตร ความยาว 6.6 กม. คาดดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2568

ปลุกแผน W-MAP  8.8 พันล้าน เส้นทางทางน้ำ เชื่อมเรือโดยสารกทม.-ปริมณฑล

นอกจากนี้ในระยะยาว ปี 2571 – 2575 มีระยะทางเพิ่มขึ้น 56.7 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย

L1 เส้นทางเดินเรือในคลองเปรมประชากร ช่วงท่าสวนสาธารณะ ปตท.-วัดรังสิต ระยะทาง 13.7 กม. จำนวน 13 ท่าเรือ มีความกว้าง 18 - 20 เมตร ความลึก 3 เมตร ความยาว 13.7 กม. คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2569-2571

L2 เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนต่อขยาย ช่วงปากเกร็ด-ที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 15.0 กม. จำนวน 3 ท่าเรือ มีความกว้าง 150 - 200 เมตร ความลึก 13-15 เมตร ความยาว 15 กม. คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2570-2571

L3 เส้นทางเดินเรือในคลองขุดมหาสวัสดิ์ ช่วงวัดชัยพฤกษมาลา-ประตูน้ำมหาสวัสดิ์ ระยะทาง 28 กม. จำนวน13 ท่าเรือ มีความกว้าง 40 เมตร ความลึก 2.5 เมตร ยาว 28 กม. ปัจจุบันมีเขื่อนตลอดริมฝั่งคลองทั้งสองฝั่งแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2570-2572