เบื้องหลังบอร์ดเงินดิจิทัล แบงก์ชาติ อัดระบบ Open Loop ไม่ชัด เสี่ยงกลโกง

05 ส.ค. 2567 | 15:04 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2567 | 15:19 น.

เปิดรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แบงก์ชาติ จัดหนัก อัดระบบ Open Loop ยังไม่ชัดเจน กังวลความเสถียร เสียงเป็นช่องว่างทุจริต กลโกง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ เงินดิจิทัลวอลเล็ต ได้เสนอรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ครั้งที่ 3/2567 ให้กรรมการพิจารณารับรองรายงานการประชุม และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา 

รายงานฉบับนี้แจ้งเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประชุมครั้งดังกล่าว ซึ่ง นายรณดล  นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประชุมผู้แทน ผู้ว่าการฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาและดำเนินการระบบการเติมเงินและใช้จ่ายในลักษณะที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบธนาคารและผู้ให้บริการชำระเงินรายอื่น (Open Loop) เพื่อใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ถือเป็นระบบที่มีความซับซ้อน และต้องเชื่อมโยงกับระบบต่าง ๆ จำนวนมาก 

ทั้งนี้หากระบบดังกล่าวติดขัด ไม่มีเสถียรภาพ หรือไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้ และส่งผลกระทบเสถียรภาพของระบบการชำระเงินโดยรวม

รองผู้ว่าฯ ธปท. ยังระบุถึงข้อมูลที่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ได้นำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาและดำเนินการระบบทั้งหมดของโครงการ ด้วยว่า เป็นการอธิบายระบบในภาพรวมที่ค่อนข้างกว้าง โดยเฉพาะในประเด็นที่กล่าวถึงเรื่อง Open Loop ที่ยังต้องไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม และยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดในการออกแบบโครงสร้าง สถาปัตยกรรมของระบบที่จะต้องเชื่อมโยงกัน 

รวมถึงการพัฒนาระบบให้รองรับเงื่อนไขต่าง ๆ ของโครงการฯ บางส่วนยังมีความไม่ชัดเจน ทั้งนี้ ระบบถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการฯ ซึ่งจะต้องมีความเสถียรและสามารถป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะกลโกง (Fraud) ต่าง ๆ ได้

นอกจากนี้ มีข้อห่วงใยเกี่ยวกับระยะเวลาในการพัฒนาระบบที่ต้องรองรับโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องมีบุคลากรที่เข้ามาดำเนินการจำนวนมาก และยังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องกรอบเวลาว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จเมื่อใด จึงเห็นว่าในเรื่องการพัฒนาและดำเนินการระบบยังคงมีรายละเอียดที่ต้องหารืออีกมาก

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ดร.อาศิส อัญญะโพธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สพร. ต้องชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในประเด็นกรอบระยะเวลาของระบบการลงทะเบียน สพร. ประเมินแล้วว่าสามารถเริ่มลงทะเบียนร้านค้าและประชาชนได้ทันภายในเดือนกันยายน 2567

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบในส่วนของการ Open Loop ยังคงต้องหา ข้อสรุปและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่อไป 

จากนั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เสริมว่า จากการหารือในชั้นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ยังคงยืนยันในกรอบเวลาที่จะสามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนด แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ความมั่นคงของตัวระบบก็เป็นสิ่งสำคัญ ทาง สพร. ก็ได้ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ครบถ้วนตามกรอบที่ได้มีข้อสังเกตกันไว้ ซึ่งตามกรอบระยะเวลาในการพัฒนาระบบของโครงการฯ จะเป็นระยะเวลาภายใน 4 - 5 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ คิดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้

รองผู้ว่าฯ ธปท. ยังย้ำต่อที่ประชุมว่า ธปท.ยังคงมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับการพัฒนาและดำเนินการระบบ อาจมีการทุจริตในลักษณะของ Digital Fraud เกิดขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของ ธปท. ในประเด็นเสถียรภาพและประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน จึงจะขอนำข้อมูลไปศึกษาเพิ่มเติมก่อนจะให้ความเห็นชอบในส่วนที่ ธปท. รับผิดชอบโดยตรงต่อไป 

ทั้งนี้ ธปท. ขอเรียนว่าในการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบหลักการของโครงการฯ คณะกรรมการนโยบายฯ ควรมีข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ในช่วงท้ายของการประชุม รองผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า จะขอพิจารณาร่างมติที่ประชุมก่อนได้หรือไม่ โดยจะขอตรวจสอบการบันทึกความเห็นและข้อสังเกตของ ธปท. เพื่อความถูกต้องครบถ้วน 

ล่าสุดฝ่ายเลขาของคณะกรรมการฯ ก็ได้ ได้เวียนรายงานการประชุมคณะกรรมการฯ ให้กรรมการพิจารณารับรองรายงานการประชุมแล้ว โดยผู้แทน ธปท. ขอแก้ไขรายงานการประชุมฯ ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้แก้ไขรายงานการประชุมเรียบร้อยแล้ว และได้เสนอเข้ามาให้ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมในระหว่างการประชุมบอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา