ทั่วโลกจับตามองนับจากนี้ ก่อนการเลือกตั้งผู้นำสรัฐจะมีขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 จะพลิกผันไปอย่างไร และในที่สุดแล้วใครจะชนะใจชาวอเมริกัน ได้นั่งเก้าอี้ผู้นำสูงสุดเพื่อบริหารประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้า เพราะหากใครเป็นผู้ชนะย่อมหมายถึงผู้นั้นจะได้เป็นผู้นำโลกด้วย จากสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ผ่านมา ถึง ณ ปัจจุบันถือเป็นเบอร์ 1 มหาอำนาจเศรษฐกิจ ผู้นำการเมืองระหว่างประเทศ มหาอำนาจทางอาวุธและการทหาร และผู้นำในอีกหลาย ๆ ด้านของโลก
ในส่วนของประเทศไทย สหรัฐได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน โดยด้านการค้าสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (ไม่นับรวมอาเซียนที่เป็นกลุ่มประเทศ) โดยปี 2566 ไทยส่งออกไปสหรัฐมูลค่ากว่า 1.66 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17% ที่ไทยส่งออกไปทั่วโลก
ช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 ไทยส่งออกไปสหรัฐ 9.20 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18% ที่ไทยส่งออกไปทั่วโลก สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และอัญมณีและเครื่องประดับ
ส่วน ด้านการลงทุน ในปี 2566 สหรัฐเป็นนักลงทุนอันดับ 3 (รองจากจีน และสิงคโปร์) ที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอของไทย จำนวน 40 โครงการ เงินลงทุน 83,954 ล้านบาท ส่วนช่วง 3 เดือนแรกปี 2567 สหรัฐเป็นนักลงทุนอันดับ 8 ที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 22 โครงการ เงินลงทุน 5,551 ล้านบาท
โดยสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของสหรัฐช่วงปี 2557-2566 โครงการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุด อยู่ในหมวดบริการ มีจำนวน 74 โครงการ รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล 66 โครงการ และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 51 โครงการ
ในปี 2567 ทางบีโอไอได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายในการชักจูงการลงทุนจากสหรัฐใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่, อากาศยาน, เกษตรและเกษตรแปรรูป,ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, แพทย์ครบวงจร และเทคโนโลยีชีวภาพ
ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวสหรัฐเข้ามาเที่ยวไทยปีละ 9 แสน ถึง 1 ล้านคน ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีนักท่องเที่ยวสหรัฐเข้ามาเที่ยวไทยแล้วกว่า 4.5 แสนคน ซึ่งนักท่องเที่ยวสหรัฐเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีการจับจ่ายสูง
ขณะเดียวกันไทยและสหรัฐยังมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก(มีสมาชิก 14 ประเท) ที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ โดยสหรัฐจะมีการลงทุนโดยตรงในภูมิภาคนี้ (เพื่อสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจคานอำนาจจีน) ซึ่งไทยจะได้รับอานิสงส์การลงทุนจากสหรัฐเพิ่มเติม
ดังนั้นการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐในครั้งนี้ จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งไม่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ หรือคามาลา แฮร์ริส จะชนะการเลือกตั้ง นโยบายของรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ที่จะดำเนินไปในอีก 4 ปีนับจากนี้ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากก็น้อย
ขณะที่สหรัฐยังเป็นผู้นำขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส และอีกหลายคู่ของโลกที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตที่สหรัฐได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐ-จีน ยอมส่งผลกระทบเชื่อมโยงมาถึงไทยในหลาย ๆ มิติอย่างแน่นอน