กรมประมงยืนยัน ปลานิล vs ปลาหมอคางดำ ไม่ผสมข้ามสายพันธุ์กัน

01 ส.ค. 2567 | 09:04 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2567 | 10:01 น.

กรมประมง ไขข้อสงสัย ความแตกต่างระหว่างปลานิล และ ปลาหมอคางดำ ย้ำชัดยังไม่พบข้อมูลหลักฐานการผสมพันธุ์ในธรรมชาติของปลาทั้ง 2 ชนิด

จากกรณีที่สื่อมวลชน นำเสนอข่าวว่า เกษตรกรวังกุ้งคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ พาผู้สื่อข่าวเข้าไปทอดแหจับปลาในบ่อเลี้ยง ปรากฏว่าพบปลาที่มีลักษณะผสมกันระหว่าง ปลาหมอคางดำ กับ ปลานิล กล่าวคือ ลักษณะเหมือนปลานิลแต่ที่คางมีสีดำ ซึ่งแตกต่างจากปลานิลทั่วไป ที่มีลักษณะตัวอ้วนกลม คางไม่มีสีดำ  จึงตั้งข้อสังเกตสงสัยว่าจะมีการกลายพันธุ์เป็น “ปลานิลคางดำ” หรือไม่ ถ้าหากกลายพันธุ์จริง จะมีผลกระทบกับเกษตรกรอย่างไร จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่มานำตัวอย่างไปวิจัยจะได้หาแนวทางป้องกันแก้ไข นั้น

 

ล่าสุดนายบัญชา  สุขแก้ว  อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า ปลานิล หรือ Nile tilapia (Oreochromis niloticus) ส่วนปลาหมอคางดำ หรือ Blackchin tilapia (Sarotherodon melanotheron) เป็นปลาที่อยู่คนละสกุล (genus) ซึ่งลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ ปลานิลจะมีแก้มและตัวสีคล้ายกัน หางมนและมีลายเส้น 

นายบัญชา  สุขแก้ว  อธิบดีกรมประมง

ส่วนปลาหมอคางดำ ใต้คางจะมีจุดสีดำ หางเว้า และไม่มีลวดลาย  อีกทั้งพฤติกรรมการฟักไข่และดูแลลูกปลาก็มีความแตกต่างกันด้วย โดยในปลานิล ปลาเพศเมียมีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อน ส่วนในปลาหมอคางดำ ปลาเพศผู้มีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อน ซึ่งความแตกต่างทางชีววิทยาดังกล่าวข้างต้น ทำให้ในธรรมชาติปลาทั้งสองชนิดจะไม่ผสมข้ามพันธุ์ 
 

 

ดังนั้น ความน่าจะเป็นในการเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ในธรรมชาติมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก และยังไม่พบข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่ระบุการผสมข้ามพันธุ์ในธรรมชาติระหว่างปลาทั้ง 2 ชนิด

 

ประกอบกับเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา กรมประมงได้เคยทดลองเลี้ยงปลานิล ปลาหมอคางดำ ปลาหมอเทศ ร่วมกัน เพื่อศึกษาว่าหากอยู่ในแหล่งอาศัยเดียวกันจะสามารถผสมข้ามสายพันธุ์หรือไม่ ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่า ไม่มีการผสมข้ามพันธุ์กันอีกทั้ง ยังพบปลานิลแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวโดยกัดปลาหมอคางดำด้วย 

 

ดังนั้น ความกังวลในเรื่องของการกลายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์นั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ในส่วนภาพเปรียบเทียบรูปร่างที่ปรากฏในข่าวนั้น สามารถแยกชนิดจากลักษณะภายนอกได้อย่างชัดเจน ส่วนการที่จะระบุว่าปลาที่ปรากฎในข่าวเป็นปลาลูกผสมหรือไม่ ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการ ทั้งด้านอนุกรมวิธานและทางอณูพันธุศาสตร์ โดยนักวิชาการที่มีความรู้เฉพาะทาง 
 

ปลานิล vs ปลาหมอคางดำ


อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจของพี่น้องเกษตรกรและประชาชน ได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ไปยังบ่อเลี้ยงที่พบปลาดังกล่าวและเก็บตัวอย่างปลาเพื่อนำมาตรวจสอบทางวิชาการที่ห้องปฏิบัติการอนุกรมวิธานต่อไป