“เงินกีบ” ผันผวน ส่งผลกระทบค้าชายแดนไทย

31 ก.ค. 2567 | 13:00 น.
761

กระแสเงินกีบอ่อนค่า ส่งผลต่อภาคการค้าชายแดนของไทย โดยเฉพาะในวันนี้ที่ตัวเลขการค้าชายแดนของสินค้าอุปโภคบริโภคไทยยังครองตลาด สปป.ลาว ทำให้ผู้ประกอบการต้องเตรียมแผนรับมือ

สถานการณ์เงินกีบใน สปป.ลาว อ่อนค่า และมีอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงิน 1 บาท เท่ากับประมาณ 700 กีบ ในขณะนี้ ส่งผลให้เกิดกระแสในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะใน สปป.ลาว ที่เริ่มรณรงค์ไม่ใช้เงินตราต่างประเทศหวังแก้ปัญหาค่าเงินดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการห้างภูธรกังวล เพราะการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังตลาด สปป.ลาว เริ่มสะดุด
 
หนึ่งผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง ที่ส่งสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านจากไทยไปยังคู่ค้าใน สปป.ลาว ประสบปัญหาถูกปรับภาษีสูงขึ้น อีกทั้ง สปป.ลาว ยังประสบปัญหาเรื่องเงินกีบอ่อนค่า ซื้อสินค้าไทยไม่ได้เท่าเดิม ทำให้การค้าชะลอตัว

“เงินบาทไทยกลายเป็นหนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว เพราะถูกมองว่าประชาชนในประเทศให้ค่านิยมกับการใช้เงินบาทและสินค้าไทยมากเกินไป และเมื่อสอบถามเพื่อนคู่ค้าในลาวได้ความว่า ตอนนี้มีการรณรงค์งดใช้สินค้าไทย และตั้งกฏกติการนำเข้าสินค้าบางประเภท ทำให้ภาษีสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เริ่มสนับสนุนการใช้เงินหยวนมากกว่าเงินบาท ซึ่งจีนก็เปิดรับเงินกีบ ซื้อสินค้าจีนโดยใช้เงินกีบได้ ประชาชนที่สู้อัตราการแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยไม่ไหวก็เริ่มหันไปหาจีน”

“เงินกีบ” ผันผวน ส่งผลกระทบค้าชายแดนไทย เป็นสัญญาณที่เห็นได้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ที่พบว่าขาดการสนับสนุนให้ประชาชนข้ามฝั่งมาทำงานหรือขายแรงงานในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียง กันในโลกโซเซียลจนเกิดเป็นปัญหาหลายด้าน แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการกีดกันทางการค้า จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย

“ส่วนตัวผมส่งออกสินค้าไปยัง สปป.ลาว 10-12% คิดเป็นมูลค่า 150-200 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันปัญหาในประเทศไทยเราก็ไม่ใช่ว่าจะดี แม้การค้าปลีกพอไปได้แต่ตลาดค้าส่งฝืดมาก ถูกนายทุนรายใหญ่กินเรียบ ผู้ประกอบการท้องถิ่นแข่งขันลำบากและหลายราย ปิดตัวลงในที่สุด ส่วนนโยบายรัฐบาลก็ยังไม่แน่นอน อย่างเงินดิจิทัลหมื่นบาทยังไม่ชัดเจน ฉะนั้น ค้าปลีก-ค้าส่งภูธร ที่ทำการค้า กับ สปป.ลาว จึงทำการค้าลำบาก”

ขณะที่ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มูลค่าการค้าค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ในเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 82,278 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% เป็นการส่งออก 50,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% การนำเข้า 32,190 ล้านบาท ลดลง 4.0% และไทยได้ดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 17,898 ล้านบาท

ด้าน นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ค้าชายแดนไทยกับ สปป.ลาว ในโลกโซเซียลไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก อย่างการค้าชายแดนของอุบลราชธานี สปป.ลาว ยังคงนำเข้าสินค้าไทยและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้ตัวเลขการส่งออกฝั่งไทยผ่านด่านในอุบลราชธานีจะลดลงเล็กน้อยเพราะปัญหาเงินกีบอ่อนค่ารุนแรง

“เราได้เปรียบดุลการค้าอยู่ตลอดเพราะยังส่งสินค้าอุบโภคบริโภคไปยังตลาด สปป.ลาว ได้ คนลาวยังสั่งซื้อสินค้าไทยและมั่นใจสินค้าไทย นับตั้งแต่จบโควิด-19 การค้าไทยและ สปป.ลาว ก็เติบโตต่อเนื่อง ในไตรมาส 3-4 ของปี 2567 ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร ประชาชนจะมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นและกลุ่มที่มีกำลังซื้อก็ยังมีอยู่ ฉะนั้นการค้าชายแดนจะยังค่อยๆ เติบโตขึ้น แม้ไม่เติบโตเร็วมากนักก็ตาม”

แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวในสปป. ลาว กล่าวว่า จากเงินกีบอ่อนค่า จะส่งผลดีต่อคนไทยที่เดินทางไปเที่ยว เพราะเงินบาทเท่าเดิมจะแลกกีบได้มากขึ้น แต่เคสที่สปป. ลาวมีอะไรแปลกกว่าที่อื่น ตรงที่ต้นทุนสูงขึ้นมากเพราะสปป. ลาวนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาก และการที่คนลาวเอากีบแลกบาท ในระบบยากมาก เพราะมีการควบคุม แต่ลาวต้องเอาเงินบาทมาซื้อของจากฝั่งไทย จึงเอาไปแลกนอกระบบที่ราคาตั้งกันเอง ซึ่งค่าเงินจากธนาคารกลางลาว กับค่าเงินแบงก์ต่างๆยังไม่เท่ากันในแต่ละวัน