KEY
POINTS
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์แห่งแรกขอประเทศไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้มีความกังวลเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท เป็นอย่างมาก เนื่องจากเงื่อนไขของรัฐบาล ที่ตั้งเป้าหมายแจกเงินได้ทันเดือนตุลาคมนั้นเป็นเรื่องที่มีความท้าทายของผู้พัฒนาระบบ Payment Platform เป็นอย่างมาก
โดยระบบ Payment Platform ถือว่ามีความซับซ้อน และมีขนาดใหญ่รองรับการใช้งานของคน 10 ล้านคน ใช้เม็ดเงินลงทุนสูง ทั้งการพัฒนาระบบ และการดูแลระบบ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นเงื่อนไขระบบจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) ระบบชำระเงิน Payment Platform ออกมา
"ระบบ Payment Platform เกี่ยวข้องกับคนหลายสิบล้านคน ต่างเพศ ต่างอายุ ต่างอาชีพ รวมไปถึงร้านค้า จะนำระบบใหญ่ขนาดนี้ขึ้นให้บริการก็ยากอยู่แล้ว ผู้พัฒนายังต้องมีการทดสอบระบบ อุดช่องโหว่ ต่างๆ จากการเปิดให้มี เชื่อมโยงข้อมูล open loop ซึ่งต้องเชื่อมต่อกับระบบอื่น ซึ่งมองว่าด้วยระยะเวลาที่มีอยู่ไมน่าจะเสร็จทัน เช่นเดียวกับการดูแลรักษาระบบนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยใครจะเป็นเจ้าภาพผู้ดูแลระบบ Payment Platform วางแนวทางปฎิบัติเวลาเกิดปัญหาขึ้นไว้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องมีการวางแผนและทดสอบการทำงานไว้ล่วงหน้า
ขณะที่นายสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาแอปเป๋าตัง ได้แสดงความคิดเห็นโดยตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลว่าจะสามารถดำเนินการได้แจกให้ประขาชนได้ทันปีนี้หรือไม่ โดยระบุว่า ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นโครงการ IT ขนาดใหญ่ และมีผู้ที่มีส่วนร่วมจำนวนมาก ทั้งส่วนแอปที่รองรับผู้เข้าใช้ระบบ แอปร้านค้า แอปทางรัฐที่ใช้ลงทะเบียน และระบบ Payment Platform
ซึ่ง Payment Platform นับเป็นหัวใจหลักของดิจิทัลวอลเล็ต เพราะต้องรับภาระในการโอนชำระเงิน ตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆตามที่กำหนดไว้ และต้องทำงานให้ได้ในเวลาที่ยอมรับได้ รวมทั้งออกแบบระบบเชื่อมต่อกับแอปที่รองรับผู้ใช้ระบบ และแอปร้านค้า จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากที่ต้องออกแบบระบบ Payment Platform ให้มีความมั่นคง ปลอดภัย ทนทาน และรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมากได้ และในกรณีที่เกิด timeout Payment Platform อาจจะตัดเงินไปแล้ว แต่ระบบส่วนหน้าไม่รับทราบ ไม่ได้มีการจ่ายสินค้า จะทำการ reconcile อย่างไร
“ความซับซ้อนของโครงการพัฒนาระบบ Payment Platform ยังเพิ่มขึ้นจากแนวคิดการทำระบบแบบ open loop ที่เปิดให้แอปพลิเคชันภายนอกเข้าร่วมได้ ซึ่งแม้จะมีข้อดีในแง่ความสะดวกของผู้ใช้ แต่ก็เพิ่มความท้าทายในการออกแบบการเชื่อมต่อและมาตรการรักษาความปลอดภัย เพิ่มเติม เมื่อทุกฝ่ายพัฒนาระบบให้มีความพร้อมแล้ว ต้องนัดมาทดสอบระบบร่วมกัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบต่างๆที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งการทดสอบไม่ใช่แค่ทดสอบเรื่องความพร้อมและความถูกต้องของการทำงานเท่านั้น ยังต้องทดสอบเรื่องความปลอดภัย เรื่องประสิทธิภาพ และเรื่องเสถียรภาพของระบบร่วมกันอีกด้วย”
เช่นเดียวกับระบบลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐ ที่มีความท้าทายในการออกแบบระบบให้รองรับผู้ใช้จำนวนมาก และการเชื่อมต่อกับระบบภายนอก เช่น ระบบพิสูจน์ตัวตน (e-KYC) ของกระทรวงมหาดไทย โดยต้องออกแบบให้ไม่เกิดคอขวดและสามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว
นายสมคิด กล่าวต่อไปว่า หากยังไม่สามารถสรุปรายละเอียดทางเทคนิค (technical specifications) ระบบ Payment Platform ได้ในเวลานี้ การทำให้โครงการสำเร็จภายในสิ้นปีนี้จะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง