เงินดิจิทัล 10,000 วิธีใช้ เงื่อนไข ร้านค้าที่ร่วมรายการ ที่นี่ครบจบ

24 ก.ค. 2567 | 17:04 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2567 | 17:21 น.
2.8 k

เงินดิจิทัล 10,000 บาท: โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน Digital Wallet ครอบคลุม 878 อำเภอ เรียนรู้เงื่อนไขการใช้จ่าย สินค้าที่ร่วมรายการ และวิธีการชำระเงินสำหรับประชาชนและร้านค้า

เงินดิจิทัล 10000 บาท หรือ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ครอบคลุม 878 อำเภอ ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจ

ล่าสุดรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้สรุปเงื่อนไขของสินค้าที่เข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซื้ออะไรได้ ไม่ได้ รวมถึงวิธีการใช้ชำระเงินระหว่างประชาชนกับร้านค้า และระหว่างร้านค้าด้วยกัน รวมทั้งคุณสมบัติของร้านค้าที่สามารถเบิกถอนเงินสดได้ โดยสรุป ดังนี้

เงื่อนไขของสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้

1. สินค้าทุกประเภทเข้าร่วมโครงการได้ ยกเว้นสินค้า Negative List ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร

2. การใช้จ่ายตามโครงการฯ ไม่รวมถึงธุรกิจบริการ ซึ่งเงื่อนไขของสินค้า ครอบคลุมถึงการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า และการใช้จ่ายระหว่างร้านค้า

เงื่อนไขการชำระเงินดิจิทัล 10,000 บาท

การชำระเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) โดยจะต้องตรวจสอบจาก

1. ที่อยู่ของร้านค้าเป็นไปตามที่ลงทะเบียนไว้กับโครงการฯ และ

2. ที่อยู่ของประชาชนที่ใช้สิทธิตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการฯ

3. ขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้า ต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน การชำระเงินจึงจะสมบูรณ์

วิธีการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ระหว่างประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้า

การใช้จ่ายภายใต้โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ประชาชนสามารถใช้ได้ในพื้นที่ระดับอำเภอทั่วประเทศ 878 อำเภอ

1.ประชาชนจะต้องใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

2.ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันที หลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป

3. วิธีการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้ ดังนี้

รอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็ก

1.ประชาชนต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น

2.ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง

3.เป็นการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยประชาชนต้องมีที่อยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอเดียวกันกับสถานประกอบการของผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก

4.การซื้อ-ขายสินค้า ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีการทำธุรกรรมซื้อขายและสแกน QR Code เพื่อชำระค่าสินค้ากันแบบพบหน้า (face-to-face) และไม่มีกระบวนการใด ๆ ในการซื้อขายที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านคนกลาง ไม่ว่าด้วยวิธีการใด และไม่ให้ทำซ้ำ ส่งต่อหรือวิธีการอื่นใดกับ QR Code ในแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมแบบพบหน้าดังกล่าว

รอบที่ 2 เป็นต้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า

1.ผู้ประกอบการร้านค้าต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าอีกแห่งหนึ่ง

2.ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง

ร้านค้าที่จะสามารถถอนเงินดิจิทัล 10,000 บาทเป็นสดได้

เฉพาะร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และมีคุณสมบัติ ดังนี้

ร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ร้านค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร โดยร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีข้างต้นต้องมีการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี ดังนี้

1. กรณีร้านค้าที่ประกอบกิจการตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จะต้องเป็น ผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ในปี 2565 และ 2566 ติดต่อกัน 2 ปี

2. กรณีร้านค้าที่ประกอบกิจการน้อยกว่า 2 ปี จะต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ติดต่อกันตั้งแต่เริ่ม ประกอบกิจการจนถึงปัจจุบัน

3. ร้านค้าใหม่ที่ยังไม่ครบกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ในปีภาษีแรกหรือรอบระยะเวลา บัญชีแรกจะพิจารณาจากการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น

ทั้งนี้ ร้านค้าต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์แบบรายเดือนในการลงทะเบียนรับสิทธิ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงทะเบียนร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า มีร้านค้ารวมแล้วเกือบ 2 ล้านราย โดยคาดว่าปลายสัปดาห์นี้ หรือต้นสัปดาห์หน้า จะแถลงรายละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้ จะเริ่มจัดการในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. นี้ ซึ่งคาดว่าในช่วง 2 เดือนนี้ จะสามารถดึงร้านเข้าระบบทั้งหมด

เบื้องต้นมีร้านค้าของสมาคมค้าปลีก 40,000-50,000 ร้าน, ร้านธงฟ้า 150,000 ร้าน และร้านอาหารธงฟ้าอีกประมาณ 5,000 ร้าน รวมถึงร้านค้าของกรมการปกครอง ที่มีหาบเร่แผงลอยรวมอยู่ด้วยอีกประมาณ 400,000 ร้าน และยังมีนิติบุคคลอีกประมาณ 900,000 ราย ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

"เชื่อว่า 2 ล้านราย ไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งเวลานี้ในส่วนของร้านค้าได้ตรวจสอบทั้งหมด และประสานทุกส่วน โดยให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) เป็นผู้รับรวบรวมเข้าระบบทั้งหมด จากนั้นจะเปิดให้มีการยืนยันตัวตนว่า ใครเข้าระบบ อาจต้องใช้เวลา 2 เดือนในการขับเคลื่อนให้ชัดเจน เชื่อว่า เดือนต.ค. นี้ น่าจะจบทั้งหมด" นายภูมิธรรม กล่าว

ที่มา : โครงการดิจิทัลวอลเล็ต