DPU จับมือ บสย.จัดงานเสวนา "Start Street Food สู่ธุรกิจ 200 ล้าน"

23 ก.ค. 2567 | 13:41 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2567 | 22:49 น.

คณะการท่องเที่ยวฯ DPU จับมือ บสย.จัดงานเสวนา "Start Street Food สู่ธุรกิจ 200 ล้าน" เปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “เฮียนพ” จากพ่อค้าขายหมูปิ้งข้างทาง สู่นักธุรกิจร้อยล้าน

คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ร่วมกับ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(DPU)และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดกิจกรรมเสวนาในโครงการ "Start Street Food สู่ธุรกิจ 200 ล้าน"

DPU จับมือ บสย.จัดงานเสวนา \"Start Street Food สู่ธุรกิจ 200 ล้าน\"

โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์วสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม DPU เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ภายในงานมีการจัดเสวนาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ยังเรียนไม่จบให้แก่นักศึกษา โดยมีนายเทียบจิตต์ จันทรภูติผลากร ผู้เชี่ยวชาญศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs(บสย. FA. Center) และ นายชวพจน์ ชูหิรัญ (เฮียนพ หมูนุ่ม) เจ้าของธุรกิจหมูปิ้ง Street Food ร่วมเป็นวิทยากร

DPU จับมือ บสย.จัดงานเสวนา \"Start Street Food สู่ธุรกิจ 200 ล้าน\"

นอกจากนี้มีการออกร้านจากหน่วยงานต่างๆ และจากนักศึกษาหลายคณะ มีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การสาธิตการย่างหมูปิ้ง ดนตรีโฟล์คซอง และลุ้นไข่ลุ้นโชค ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  
 

อาจารย์วสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้ จัดขึ้นเพื่อเพิ่มทักษะและปลูกฝังแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจาก บสย. มาให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทสำคัญในการสนับสนุน SMEs และเชิญผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบความสำเร็จ มาให้ความรู้และแบ่งปันแนวทางการสร้างธุรกิจขนาดเล็กให้เติบโตจนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่

DPU จับมือ บสย.จัดงานเสวนา \"Start Street Food สู่ธุรกิจ 200 ล้าน\"

นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างประสบการณ์นักศึกษา ด้วยการจัดพื้นที่ให้นักศึกษาได้ทดลองประกอบธุรกิจจริง ภายในงานยังได้เชิญนักศึกษาจากวิทยาลัย CIBA และสายงานกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมงานเสวนา

DPU จับมือ บสย.จัดงานเสวนา \"Start Street Food สู่ธุรกิจ 200 ล้าน\"

“ในยุคปัจจุบัน การทำธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยช่องทางและแพลตฟอร์มต่างๆ เอื้อให้ทุกคนสามารถสร้างธุรกิจของตนเองได้ง่ายขึ้น ทางคณะฯ จึงส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าใจหลักการดำเนินธุรกิจและรู้จักเครื่องมือสนับสนุนทางธุรกิจที่สำคัญ เช่น บสย. ซึ่งให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดย่อมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นธุรกิจอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อธุรกิจ เราเชื่อว่าหากนักศึกษาเข้าใจการดำเนินธุรกิจและรู้จักแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงได้ จะสามารถนำความรู้ไปต่อยอดธุรกิจของตนเองได้ในอนาคต"อาจารย์วสุกานต์ กล่าว

นายเทียบจิตต์ จันทรภูติผลากร ผู้เชี่ยวชาญศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. FA. Center) กล่าวว่า บสย.เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุน SMEs ของประเทศไทย โดยมีบทบาทหลักในการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

นายเทียบจิตต์ จันทรภูติผลากร ผู้เชี่ยวชาญศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. FA. Center)

ปัจจุบัน บสย. ได้รับการจัดสรรวงเงินจำนวน 50,000 ล้านบาทจากรัฐบาล เพื่อดำเนินโครงการ IGNITE THAILAND เป็นการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการใน 8 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมอาหาร การบิน การขนส่งระดับภูมิภาค อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และภาคการเงิน โครงการนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

DPU จับมือ บสย.จัดงานเสวนา \"Start Street Food สู่ธุรกิจ 200 ล้าน\"

“สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาที่มีความสนใจในการเริ่มต้นธุรกิจ บสย. มีข้อแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการทดลองทำแผนธุรกิจที่รอบคอบและดำเนินกิจการขนาดเล็กก่อน เพื่อพิสูจน์ศักยภาพและความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ก่อนที่จะพิจารณาการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ทั้งนี้เทคนิคการขอสินเชื่อให้ผ่าน สำหรับกิจการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการจัดทำงบการเงินที่มีความน่าเชื่อถือ รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงสภาพการดำเนินธุรกิจที่แท้จริงและมีศักยภาพในการเติบโต ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ควรให้ความสำคัญด้านการจัดทำบัญชีและเอกสารทางการเงินอย่างเป็นระบบ จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างรายได้และชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอ”

นายชวพจน์ ชูหิรัญ (เฮียนพ หมูนุ่ม) เจ้าของธุรกิจหมูปิ้ง Street Food กล่าวว่า ได้เริ่มทำธุรกิจขายหมูปิ้งหลังตกงานช่วงฟองสบู่แตกในปี 2540 และเริ่มขายดีในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ขณะนั้นไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง จึงเริ่มไปขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทำให้คำนวณต้นทุนการผลิตเป็น ทำให้จัดการกับวัตถุดิบได้ดีขึ้น ขณะนั้นเน้นขายให้ลูกค้าทั่วไป และเริ่มมีตัวแทนจำหน่าย ต่อมาธุรกิจเริ่มเติบโตและมีชื่อเสียงในปี 2558-2559 มีห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งติดต่อให้นำสินค้าไปลงขาย แต่ต้องสร้างมาตรฐานของสินค้าให้ได้ก่อน จึงมีการปรับโครงสร้างโรงงานการผลิต เพื่อเตรียมความพร้อมในการสต๊อกสินค้าล็อตใหญ่

นายชวพจน์ ชูหิรัญ (เฮียนพ หมูนุ่ม) เจ้าของธุรกิจหมูปิ้ง Street Food

ช่วงนั้นเริ่มประสบปัญหาด้านการเงิน จึงขอสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME Bank) โดยผ่านการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ทำให้ได้เงินทุนก้อนแรกจากธนาคารเพื่อนำมาหมุนเวียนในธุรกิจ ส่งผลให้สามารถขยายธุรกิจเข้าสู่โมเดิร์นเทรดและปิดยอดขายได้หลักร้อยล้านต่อปีในช่วงนั้น

“สิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ไม่ไปรอด คือ การลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ การไม่มีความรู้ด้านการบริหารจัดการต้นทุนและผลกำไร การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ  และไม่มีการพัฒนาตนเองให้ทันเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ดังนั้น จึงอยากแนะนำน้องๆที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจ อยากให้เน้นการสร้างยอดขายในช่วงแรก เพราะจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และรักษามาตรฐานของผลิตภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าความสำเร็จอาจต้องใช้เวลา แต่การเตรียมความพร้อมและสั่งสมประสบการณ์ จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในอนาคต อย่างไรก็ตามต้นทุนทางความคิด เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจในช่วงแรก การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและการวางแผนอย่างรอบคอบจะเป็นพื้นฐานสำคัญของความสำเร็จ”เฮียนพ กล่าว