เงินดิจิทัล10000 งบ 4.5 แสนล้าน คาอยู่ที่สภา ความปลอดภัยระบบชำระเงินน่าห่วง

23 ก.ค. 2567 | 17:31 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2567 | 22:32 น.
2.4 k

ตรวจสอบความพร้อม เงินดิจิทัล 10,000 บาท งบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ที่จะนำมาแจกให้กับประชาชนยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่ระบบการชำระเงินยังรอจัดจ้าง

KEY

POINTS

  • รัฐบาลเตรียมเปิดตัวโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท วงเงิน 450,000 ล้านบาท โดยจะแถลงรายละเอียดวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 และเปิดลงทะเบียนผ่านแอป "ทางรัฐ" วันที่ 1 สิงหาคม 2567
  • โครงการเผชิญความท้าทายด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัย ทั้งการพัฒนาระบบให้ทันกำหนด ความเสถียรของระบบ และการรองรับผู้ใช้จำนวนมาก ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญและธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงความกังวล
  • ความสำเร็จของโครงการขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมอย่างรอบคอบ การทดสอบระบบอย่างละเอียด การจัดเตรียมช่องทางรับแจ้งปัญหาที่เพียงพอ และการให้เวลาสถาบันการเงินในการเชื่อมต่อระบบ

รัฐบาลกำลังเตรียมเปิดตัวโครงการ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานการแถลงรายละเอียดโครงการแทน ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ทั้งกรอบระยะเวลา ขั้นตอนการลงทะเบียน และแหล่งเงิน

โดยรัฐบาลจะเปิดลงทะเบียนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 นี้ ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” โดยมีระยะเวลาการเปิดลงทะเบียน 45 วัน จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 แจ้งผลสำหรับประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์ และเปิดให้ประชาชน และร้านค้าใช้จ่ายผ่านระบบ Open Loop ในเดือนธันวาคม 2567

ความพร้อมงบประมาณแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

สำหรับแหล่งวงเงินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ล่าสุดแม้จะมีความชัดเจนแล้วว่า แหล่งวงเงินของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท วงเงิน 450,000 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลจะดึงงบประมาณมาใช้รวม 2 ปีงบประมาณ

นั่นคือ งบประมาณปี 2567 ทั้งการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 122,000 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 43,000 ล้านบาท และงบประมาณปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 132,300 ล้านบาท

แต่ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัลฯ ครั้งล่าสุด ที่ประชุมก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีเงินครบทั้ง 450,000 ล้านบาทหรือไม่ โดยเฉพาะการบริหารจัดการงบประมาณ ทั้ง 2 ปีงบประมาณ ซึ่งจะต้องหาเงินมาเติมในโครงการอีก 175,300 ล้านบาท อาจทำได้ยาก เพราะหลายโครงการยังไม่สามารถตัดงบประมาณลงได้ และอาจทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจใช้งบกลาง ซึ่งปกติเงินก้อนนี้ต้องกันเอาไว้ใช้ยามจำเป็นเท่านั้น

ไทม์ไลน์งบ 4.5 แสนล้าน แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ในส่วนของงบประมาณปี 2567 ล่าสุดมีความชัดเจนแล้วว่าจะมีเงินก้อนแรกตุนเอาไว้ 122,000 แสนล้านบาท หลังจากรัฐบาลเลือกออกพ.ร.บ.งบเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นตอนของรัฐสภา โดยได้ผ่านชั้นรับหลักการในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือผ่านวาระแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ด้วยคะแนน 197 ต่อ 164 เสียง และจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ

ทั้งนี้ตามไทม์ไลน์ของงบประมาณเพิ่มเติมนั้น หลังจากผ่านชั้นกรรมาธิการแล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณา วาระที่ 2 และลงมติวาระที่ 3 ในวันที่ 31 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 เมื่อผ่านวาระ 2-3 แล้ว ในวันที่ 6 สิงหาคม 2567 จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา โดยหลังจากนั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้ ในวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ต่อไป

ส่วนงบประมาณปี 2568 ล่าสุดกฎหมายยังอยู่ในชั้นกรรมาธิการเช่นกัน โดยมีการตั้งงบประมาณปี 2568 เอาไว้ในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงิน 152,700 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 132,300 ล้านบาท จะบริหารจัดการงบประมาณรายจ่าย ซึ่งเงินก้อนนี้จะมีการตัดเงินมาจากโครงการบางส่วนในชั้นกรรมาธิการ แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะได้เต็มวงเงินหรือไม่

อย่างไรก็ตามตามไทม์ไลน์งบประมาณ ปี 2568 หลังจากผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการแล้ว ในขั้นตอนต่อไป จะนำเข้าสู่การพิจารณา วาระที่ 2 และลงมติวาระที่ 3 ในวันที่ 4 – 5 กันยายน 2567 เมื่อผ่านวาระ 2-3 แล้ว ในวันที่ 9-10 กันยายน 2567 จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา โดยหลังจากนั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้ ในวันที่ 17 กันยายน2567 ต่อไป

ความพร้อม “แอปทางรัฐ”ใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

สำหรับการพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงิน “แอปพลิเคชันทางรัฐ” เพื่อรองรับการโอนจ่ายเงินในการซื้อสินค้าของประชาชนในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขณะนี้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ได้พัฒนาแอปพลิเคชันทางรัฐ เพื่อรองรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่สำคัญไปแล้ว 2 โครงการ ได้แก่

  • โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Government Super App) : บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลด้วยวงเงิน 27.3 ล้านบาท
  • โครงการพัฒนาระบบลงทะเบียนร้านค้า : บริษัท เด็พธเฟิร์สท จำกัด ชนะการประมูลด้วยวงเงิน 4.69 ล้านบาท

นอกจากนี้ DGA ยังมีแผนการจัดซื้อจัดจ้างที่สำคัญในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อรองรับการดำเนินโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท อีก 1 โครงการ ได้แก่ งานพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) วงเงิน 95 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้จ่ายเงินของประชาชนจากโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ผู้เชี่ยวชาญห่วงพัฒนาระบบชำระเงินดิจิทัล 10,000 ไม่ทัน

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาระบบชำระเงินออนไลน์ แสดงถึงความเป็นห่วงของระบบการชำระเงิน Payment System ที่ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้จัดจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาพัฒนาระบบ

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์แห่งแรกของประเทศไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รู้สึกกังวลเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท เป็นอย่างมาก เนื่องจากเงื่อนไขของรัฐบาล ที่ตั้งเป้าหมายแจกเงินได้ทันเดือนตุลาคมนั้น เป็นเรื่องที่มีความท้าทายของผู้พัฒนาระบบเป็นอย่างมาก 

เนื่องจากระบบดังกล่าวถือว่ามีความซับซ้อน และมีขนาดใหญ่รองรับการใช้งานของคน 10 ล้านคน ใช้เม็ดเงินลงทุนสูง ทั้งการพัฒนาระบบ และการดูแลระบบ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นเงื่อนไขระบบจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) ระบบชำระเงิน Payment System ออกมา

“ระบบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคนหลายสิบล้านคน ต่างเพศ ต่างอายุ ต่างอาชีพ รวมไปถึงร้านค้า จะนำระบบใหญ่ขนาดนี้ขึ้นให้บริการก็ยากอยู่แล้ว ผู้พัฒนายังต้องมีการทดสอบระบบ อุดช่องโหว่ต่างๆ จากการเปิดให้มีเชื่อมโยงข้อมูล Open Loop ซึ่งต้องเชื่อมต่อกับระบบอื่น ซึ่งมองว่าด้วยระยะเวลาที่มีอยู่ไมน่าจะเสร็จทัน เช่นเดียวกับการดูแลรักษาระบบนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยใครจะเป็นเจ้าภาพผู้ดูแลระบบ วางแนวทางปฎิบัติเวลาเกิดปัญหาขึ้นไว้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องมีการวางแผนและทดสอบการทำงานไว้ล่วงหน้า”

ธปท.กังวลความปลอดภัยระบบเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท

สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เสนอต่อนายเศรษฐา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่าการที่ระบบเติมเงินฯ จะต้องรองรับการใช้งานของ ประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก และมีลักษณะเป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่ต้องเชื่อมโยงกับธนาคารและ Non-bank เป็นวงกว้าง 

ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าระบบเติมเงินฯ โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายคณะกรรมการนโยบายฯ ควรติดตามการพัฒนาระบบเติมเงินฯ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าการดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัย (confidentiality & security) ความถูกต้องน่าเชื่อถือ (integrity) และความมีเสถียรภาพพร้อมใช้งานได้ต่อเนื่อง (availability) 

รวมทั้งมีการบริหารจัดการด้าน IT Governance ตามมาตรฐานสากล โดยมีประเด็นที่ควรพิจารณาตรวจสอบก่อนเริ่มใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของระบบเติมเงินฯ ดังต่อไปนี้

1.ระบบลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบสิทธิของประชาชนและผู้ประกอบการ และการพิสูจน์และยืนยันตัวตน

  • การตรวจสอบเงื่อนไข การพิสูจน์ตัวตน และความปลอดภัยของระบบ ต้องได้มาตรฐาน เทียบเคียงกับบริการในภาคการเงิน สามารถป้องกันความเสี่ยงของการถูกสวมรอย หรือใช้เป็นช่องทางการทำ ทุจริตหรือทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายได้
  • มีศักยภาพสามารถรองรับการลงทะเบียนพร้อมกันของผู้ใช้งานจำนวนมากได้

2. ระบบตรวจสอบเงื่อนไขและอนุมัติรายการชำระเงิน บันทึกบัญชี และ update ยอดเงิน เมื่อมีการใช้จ่ายหรือถอนเงินออกจาก Digital Wallet (payment platform) ต้องสามารถรองรับการตรวจสอบหากเกิดปัญหาการชำระเงินไม่สำเร็จหรือเกิดข้อผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว

  • การทดสอบระบบก่อนใช้จริงต้องทำอย่างครบถ้วนตามมาตรฐานการพัฒนาระบบชำระเงิน ตั้งแต่ตัวระบบ การทำงานร่วมและเชื่อมต่อกับระบบอื่น ไปจนถึงการใช้งานของประชาชนและร้านค้า เพื่อให้มั่นใจว่าระบบดำเนินการได้ถูกต้อง ปลอดภัย รองรับการใช้งาน จำนวนมาก (load capacity) ได้
  • ควรมี call center หรือช่องทางการรับแจ้งปัญหาได้ โดยรวดเร็ว และเพียงพอต่อการสอบถามจากประชาชนจำนวนมากพร้อมกัน โดยสามารถให้คำแนะนำการแก้ปัญหาได้ถูกต้องและมีมาตรฐาน

3.การดำเนินการในลักษณะเป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่เชื่อมต่อกับภาคธนาคารและ non-bank
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำและนำส่งพิมพ์เขียวที่แสดง system architecture ของ payment platform (เช่น technical specifications, system requirements, business rules) ให้ธนาคารและ non-bank โดยเร็วที่สุด สำหรับเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและทดสอบการเชื่อมต่อระบบกับ payment platform ให้ทันตามกำหนดการพัฒนา open loop ต้องให้เวลาเพียงพอแก่ธนาคารและ non-bank ในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อ 

  1. ประเมินความเสี่ยงและมีแนวทางปิดความเสี่ยงสำคัญ (เช่น ความเสี่ยงปฏิบัติการ ความเสี่ยงด้านรักษาความปลอดภัย ความเสี่ยงด้านความถูกต้องเชื่อถือได้และความพร้อมใช้ของระบบ) รวมทั้งประเมินช่องโหว่ และทดสอบการเจาะระบบ (vulnerability assessment และ penetration testing) ให้ครบถ้วน เพื่อให้สามารถแก้ไขและป้องกันภัยคุกคามที่เกิดขึ้นก่อนเริ่มใช้งาน 
  2. แจ้งให้ ธปท. ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเริ่มให้บริการ เนื่องจากการเชื่อมต่อ payment platform กับ mobile application เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านระบบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะกระทบลูกค้าและการให้บริการเป็นวงกว้าง โดย ธปท. จะสอบทานผลการประเมินและผลทดสอบความเสี่ยงด้านต่าง ๆ และอาจขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงกับระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนด เงื่อนไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกรณีที่ open loop อาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงินโดยรวม

ประเด็นอื่น ๆ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงกลไกการลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอน ต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รวมถึงมีมาตรการในการติดตามการดำเนินโครงการฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีกระบวนการที่รัดกุมเพียงพอที่จะป้องกันปัญหาต่าง ๆ เช่น การซื้อขายสินค้าที่ผิดเงื่อนไขของโครงการฯ และ การขายลดสิทธิ์ (discount) ระหว่างประชาชนและร้านค้า

นอกจากนั้น ข้อมูลที่ได้รับทราบจากการแถลงข่าว ในโอกาสต่าง ๆ เกี่ยวกับกรณีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดทำและชี้แจงแนวทางดำเนินการที่ชัดเจนในการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว ให้สอดคล้องกับหลักการของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้การจัดทำ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม กระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณนั้น โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้

โครงการนี้มีความท้าทายทั้งด้านเทคนิคและการบริหารจัดการ จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างรอบคอบเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย