สมาคมประมงฯ ชง "ธรรมนัส" ดันกำจัดปลาหมอคางดำ เป็นวาระแห่งชาติ

22 ก.ค. 2567 | 13:40 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2567 | 14:00 น.

"มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย" เผยเตรียมชง 9 ข้อ เสนอ"รมว.ธรรมนัส พรหมเผ่า" กำจัด "ปลาหมอคางดำ" ให้เป็นวาระแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

วันที่ 22 ก.ค. 67 นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ก่อนการประชุมหารือกับร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ว่า  สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาชิก และชาวประมง ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระบาด เฉพาะหน้า จำเป็น เร่งด่วน ดังนี้

1. เสนอขอให้รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานฯ ปลัดกระทรวง/อธิบดีฯ ที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ อธิบดีกรมประมง เป็นเลขาฯ

สมาคมประมงฯ ชง \"ธรรมนัส\" ดันกำจัดปลาหมอคางดำ เป็นวาระแห่งชาติ

รองอธิบดีกรมประมง เป็นรองเลขาฯ ผอ.ฝ้ายกฎหมาย เป็นผู้ช่วยเลขาฯ โดยมีผู้แทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนักวิชาการ หรือ
ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย

 

2. พิจารณาออกประกาศให้มีการผ่อนผันเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพในการใช้จับปลาหมอคางดำ ได้ใน แหล่งน้ำสาธารณะตามความจำเป็น เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ชายฝั่งทะเลในทุกจังหวัดที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยการออกประกาศดังกล่าวให้เป็นตามมติของ คกก.เฉพาะกิจแต่ละ จว.เป็นผู้พิจารณาเสนอฯ

สมาคมประมงฯ ชง \"ธรรมนัส\" ดันกำจัดปลาหมอคางดำ เป็นวาระแห่งชาติ

3. กำหนดให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนที่แหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงชายฝั่งทะเล รวมถึงพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประชาชนที่มีปลาหมอคางดำระบาดอยู่เพื่อใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเป็นระบบ
 

4. กำหนดให้ประมงจังหวัดแต่ละจังหวัดร่วมกับสมาคมประมงในพื้นที่ ประสานชาวประมง รับลงทะเบียนเรือประมง ชาวประมง ที่จะมาเข้าร่วมโครงการกำจัดปลาหมอคางดำเพื่อควบคุมให้อยู่ในระบบข้อมูลทางการ

5. เสนอรัฐบาล จัดสรรงบประมาณเร่งด่วนสนับสนุนในการกำจัดปลาหมอคางดำ ให้กับชาวประมง เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเครื่องมือ ค่าอุปกรณ์ ค่าแรงงาน สนับสนุนราคาปลาหมอคางดำในราคา 15 บาท ภายในระยะเวลาที่กำหนดที่ชัดเจน (3-6 เดือน) เพื่อเร่งรัดการกำจัด และป้องกันการลักลอบเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เป็นต้นต้น

6. กำหนดให้มีคณะทำงานเฉพาะกิจในแต่ละจังหวัด โดยให้มีประมงจังหวัด เป็นประธานฯ ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนสมาคมประมงจังหวัด ผู้แทนชาวประมง ผู้แทนภาคประชาสังคม ร่วมเป็นกรรมการ เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดเป็นเลขาฯ

ให้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ กำกับ ควบคุม ดูแล ตรวจสอบการใช้งบประมาณสนับสนุนให้กับเรือประมง ชาวประมง ที่เข้าร่วมโครงการ และแต่งตั้งชุดเฉพาะกิจตามความจำเป็น รวมทั้งรวบรวมปัญหาต่างๆ ที่พบระหว่างการดำเนินการ

พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และอาจจะเสนอปัญหาต่างๆ ให้กับกรมประมง เพื่อช่วยพิจารณาแก้ไข

7. ให้คณะทำงานเฉพาะกิจจังหวัดต่างๆ ประสานความร่วมมือกับเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ช่วยแจ้งข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่เพาะเลี้ยงต่อคณะทำงานฯ เพื่อรวบรวมข้อมูลและร่วมมือในการกำจัดปลาหมอคางดำ จากแหล่งเพาะเลี้ยงของเกษตรกร

8. ภายใต้คณะทำงานดังกล่าว ให้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจรับแจ้งข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยให้มีการตั้งกลุ่มไลน์และช่องทางสื่อสารอื่นๆ ในการรับแจ้งข้อมูลจากประชาชน ตัวแทนภาคประชาสังคม ในจังหวัดนั้นๆ ว่ามีพื้นที่ใดที่มีปลาหมอคางดำระบาดโดยประสานคณะทำงานฯ เพื่อดำเนินการกำจัดโดยเร่งด่วน

9. พื้นที่ไหนที่ได้มีการกำจัดปลาหมอคางดำจนเหลือน้อยแล้ว ให้เริ่มปล่อยปลานักล่าตัวใหญ่จำนวนมากพอ ลงไปใน แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง เพื่อให้ปลานักล่ากินลูกปลาหมอคางดำเพื่อตัดวงจรชีวิตปลาหมอคางดำให้หมดไปโดยเร็ว

หลังจากนั้น ให้มีการส่งเสริม สนับสนุน และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์วิทยา เช่น การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นทดแทแทน เป็นต้น