BEM ทุ่มงบแสนล้าน ซื้อขบวนรถสายสีส้ม "สายตะวันออก" เปิดปี71

19 ก.ค. 2567 | 07:00 น.
2.2 k

BEM กางแผนลงทุนสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท หลังจับมือ รฟม.ลงนามสัญญา ลุยกู้เงินธนาคารกรุงเทพฯ เตรียมฯบริหารงบ 20,000 ล้านบาทต่อปี เร่งจัดซื้อขบวนรถ 30 คัน ภายในปีนี้ มั่นใจเปิดให้บริการสายตะวันออกรับของขวัญปีใหม่ 71

“รถไฟฟ้าสายสีส้ม” หนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ด้านระบบขนส่งสาธารณะที่ล่าช้ากว่า 4 ปี จากประเด็นการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ส่งผลให้โครงการหยุดชะงักไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ เนื่องจากต้องรอคำพิพากษาจากศาลปกครองเป็นที่สิ้นสุดก่อน

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ภายหลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง “คดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม” ในกรณีที่รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ปรับหลักเกณฑ์ประมูลรอบใหม่ให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน กรกฎาคม 2563

ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จนนำมาสู่การฟ้องร้องของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี

โดยศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเหมาะสมและความจำเป็นแห่งกรณีเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะเจาะจงที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมการคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยในที่ประชุมครม.ไม่มีการคัดค้านโครงการฯแต่อย่างใด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการนี้มีความสำคัญต่อการเดินทาง เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีประชาชนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นได้มีการหารือกับ BEM โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการสายตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในสิ้นปี 2570 เพื่อเป็นของขวัญประชาชนในวันปีใหม่ในปี 2571 จากเดิมที่จะเปิดให้บริการภายในเดือนพฤษภาคมปี 2571

ขณะที่การเปิดให้บริการส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พร้อมตลอดทั้งเส้นทาง จะเปิดให้บริกาภายในกลางปี 2573 จากเดิมที่จะเปิดให้บริการภายในเดือน พฤศจิกายน 2573

“หลังจากการลงนามสัญญารถไฟฟ้าในครั้งนี้ BEM จะมีการจ้างงานไม่ตํ่ากว่า 30,000 คน และสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างประมาณ 80,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น 0.1%”

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า หลังจากการลงนามสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น เบื้องต้นบริษัทได้ขอแหล่งเงินกู้จากธนาคารกรุงเทพฯ วงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการลงทุนโครงการฯ ซึ่งทางสถาบันการเงินได้อนุมัติแล้ว โดยบริษัทวางแผนลงทุนก่อสร้างโครงการฯ สายตะวันตกประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี

นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตามสัญญารฟม.จะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) เพื่อให้บริษัทเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการสั่งซื้อและจัดหาขบวนรถ จำนวน 30 คัน ขบวนละ 3 ตู้ ภายในปีนี้ ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี ก่อนจะเปิดให้บริการในสายตะวันออกก่อน

ขณะเดียวกันตามผลการศึกษาฯ คาดว่าส่วนตะวันออกสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150,000 คน ขณะที่ส่วนตะวันตกสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 400,000 คน

นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่ค่าซ่อมบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่รฟม.ดูแลรับผิดชอบในปัจจุบัน 41 ล้านบาทต่อเดือน เบื้องต้นตามสัญญาบริษัทจะเข้าไปบำรุงรักษาดูแลโครงการต่อภายในปี 2569 เป็นต้นไป

ขณะที่การจัดเก็บอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในช่วง 2 ปีแรกที่เปิดให้บริการ อยู่ที่ 17-42 บาท โดยมีค่าแรกเข้าอยู่ที่ 15 บาท จากเดิมที่อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 20-65 บาท หลังจากนั้นจะปรับอัตราค่าโดยสารตามดัชนีความคุ้มครองผู้บริโภค (CPI) ทุกๆ 2 ปี

สำหรับผลการคัดเลือกเอกชนสรุปว่าบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการคัดเลือก โดยเป็นผู้เสนอผลประโยชน์สุทธิต่อรัฐตํ่าที่สุด โดยขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาพร้อมดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นวงเงินรวม 95,432.04 ล้านบาท และเสนอผลตอบแทนให้ รฟม. เป็นวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญาร่วมลงทุน

อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ กว่า 13,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมาผลการเจรจาระหว่างรฟม.และ BEM ได้ข้อสรุปว่า กรณีการปรับเพิ่มเงินผลตอบแทนให้รฟม.นั้น BEM แจ้งว่าไม่สามารถปรับเพิ่มให้ได้ เนื่องจากโครงการให้ผลตอบแทนการลงทุนตํ่าและมีความเสี่ยงสูงที่ปริมาณผู้โดยสารจะไม่เป็นไปตามประมาณการ

โดย BEM ยืนยันว่าหากทดสอบระบบร่วมล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดภายในเดือนมี.ค. 2569 BEM ยินดีรับค่าใช้จ่ายให้แก่รฟม.ประมาณ 40-50 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ BEM พร้อมปฏิบัติตามร่างสัญญาร่วมลงทุนฯตาม RFP

ส่วนกรณีการปรับลดเงินสนับสนุนค่างานโยธา เบื้องต้น BEM ไม่สามารถปรับลดเงินสนับสนุนค่างานโยธาได้ เพราะค่าก่อสร้างที่เสนอมีความเหมาะสมและตํ่ากว่าประมาณการของรฟม. ทั้งที่ในปัจจุบันต้นทุนค่าก่อสร้างได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น ค่านํ้ามัน ค่าแรงเมื่อเทียบกับค่าก่อสร้างที่รฟม.ประมาณการไว้ตั้งแต่ปี 2561