"ลดเงินสมทบประกันสังคม" ลง 3% นาน 3 เดือน แรงงาน รอชง ครม.ไฟเขียว

12 ก.ค. 2567 | 06:40 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2567 | 11:42 น.
965

รมว.แรงงาน "พิพัฒน์ รัชกิจประการ" ยอมรับการปรับลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 3% ในปี 2567 เป็นเวลา 3 เดือน รอเสนอครม.เห็นชอบเร็ว ๆ นี้แน่นอน หลังจากรอหน่วยงานต่างๆ ทำความเห็นประกอบ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้จัดทำมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงาน เพื่อรอบรับผลกระทบจากการปิดกิจการและเลิกจ้างที่อาจเกิดขึ้นผ่านกลไกการปรับลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 3% ในปี 2567 ว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อมูลรายละเอียดของร่างกฎกระทรวง คาดว่า เร็ว ๆ นี้จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้

"ตอนนี้แนวทางการปรับลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ลงเหลืออัตรา 3% กำลังพิจารณารอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นเข้ามา และไม่นานนักน่าจะเสนอครม.พิจารณาต่อไป" รมว.แรงงาน ยืนยัน

สำหรับการปรับลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ปี 2567 ของกระทรวงแรงงานนั้น เบื้องต้นอยู่ระหว่างการยกร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... ขึ้นมาหนึ่งฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม คาดว่าจะมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยดำเนินการในลักษณะเดียวกับช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมลงชั่วคราว

ทั้งนี้การปรับลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กำหนดแนวทางการลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละ 5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละ 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับฝ่ายรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม 2.75% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

สำหรับการออกมาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานครั้งนี้ เป็นผลมาจากข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายในที่ประชุมครม.เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา หลังจากเห็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่เติบโตเท่าที่ควรมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน รวมถึงโรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้ต้องมีการเลิกจ้างพนักงานหรือมีความจำเป็นต้องปิดตัวลง 

ด้วยเหตุนี้ นายกฯ จึงขอมอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้โดยด่วน และให้พิจารณากำหนดมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานให้เหมาะสม ชัดเจน แล้วให้นำเสนอต่อครม. พิจารณาต่อไป