ลดเงินสมทบประกันสังคม 3% ปี 2567 ได้ข้อสรุป จ่อชงครม.

05 ก.ค. 2567 | 13:01 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2567 | 16:12 น.
20.2 k

ลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 3% ปี 2567 เตรียมเสนอที่ประชุมครม. หลังกระทรวงแรงงาน และ กระทรวงการคลัง หารือได้ข้อสรุป หวังประคองการจ้างงานปลายปี

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน ได้มีการหารือถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงาน เพื่อรอบรับผลกระทบจากการปิดกิจการและเลิกจ้างที่อาจเกิดขึ้นจนได้ข้อสรุปแล้ว โดยเฉพาะการใช้กลไกการปรับลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม คาดว่า ในเร็ว ๆ นี้ จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้

สำหรับแนวทางเบื้องต้นของการปรับลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ปี 2567 นั้น จะดำเนินการในลักษณะเดียวกับช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมลงชั่วคราว โดยการดำเนินการในครั้งนี้ กระทรวงแรงงาน จะมีการยกร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... ขึ้นมาหนึ่งฉบับ มีหลักการสำคัญในการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน 

โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละ 5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละ 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับฝ่ายรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม 2.75% ของค่าจ้างผู้ประกันตน ส่วนระยะเวลานั้น เบื้องต้นกำลังพิจารณาว่าจะปรับลดชั่วคราวเพียงแค่ 3 เดือนก่อน

“ตอนนี้ได้ข้อสรุปแล้ว โดยจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับช่วงโควิด แต่ในรายละเอียดนั้น กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน กำลังหารือในขั้นสุดท้าย และจะเคาะตัวเลขที่ชัดเจนทั้งอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และระยะเวลาการปรับลดที่เหมาะสมว่าจะใช้กี่เดือน และจากนั้นจะเสนอให้ครม.โดยเร็ว คาดว่า จะเสนอภายในเดือนกรกฎาคม 2567 นี้” แหล่งข่าว ระบุ

สำหรับการออกมาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานครั้งนี้ เป็นผลมาจากข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายในที่ประชุมครม.เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา หลังจากเห็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่เติบโตเท่าที่ควรมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน รวมถึงโรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้ต้องมีการเลิกจ้างพนักงานหรือจำเป็นต้องปิดตัวลง 

ดังนั้นจึงขอมอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้โดยด่วน และให้พิจารณากำหนดมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานให้เหมาะสม ชัดเจน แล้วให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยด่วน