เสียงสะท้อนจาก "เอสเอ็มอี" เศรษฐกิจไทยติดกับดักเหลื่อมล้ำไม่ใช่โครงสร้าง

08 ก.ค. 2567 | 16:18 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2567 | 16:47 น.
512

เสียงสะท้อนจาก "เอสเอ็มอี" เศรษฐกิจไทยติดกับดักเหลื่อมล้ำไม่ใช่โครงสร้าง แนะเลิกเน้นผลงานเฉพาะหน้า เอื้อกลุ่มทุนใหญ่ พร้อมชี้ 5 ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทั้งสภาวะรายได้ลด กำลังซื้อหด ต้นทุนวัตถุดิบปรับสูงขึ้น

เศรษฐกิจไทยเวลานี้เรียกว่าอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว หรือยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน

ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าจะลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 3% เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อประคองการจ้างงาน

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "แสงชัย ธีรกุลวาณิช" ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยในเวลานี้

ปัญหาจากนโยบายไม่กระจายอำนาจ

แสงชัย ระบุว่า การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 3% เป็นระยะเวลา 3 เดือนดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะช่วยลดภาระผู้ประกอบการระยะสั้น และเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นสถานการณ์เศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบัน การผลักดันนโยบายเพื่อหาทางออกและทางรอดของเอสเอ็มอี (SMEs)และแรงงานที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยกับความเสี่ยงของเอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายย่อย วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรที่ฝ่าสารพัดมรสุมกับดักความเหลื่อมล้ำที่ไม่ใช่ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ 

เสียงสะท้อนจาก "เอสเอ็มอี" เศรษฐกิจไทยติดกับดักเหลื่อมล้ำไม่ใช่โครงสร้าง

แต่เป็นต้นตอปัญหาที่มาจากแนวคิดการออกแบบกลไกการนโยบายที่ไม่กระจายอำนาจ กระจายโอกาส กระจายรายได้ เน้นผลงานเฉพาะหน้าที่เอื้อกับพวกพ้องกลุ่มทุนใหญ่ เอาใจทุนนอกจนหลงลืมทุนใน ท่ามกลางทุนเสรีนิยมที่ขาดมาตรการรองรับและเชิงรุกในการยกระดับกำลังคนของประเทศทุกช่วงวัย ที่หากต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์ กลยุทธ์เชื่อมโยง บูรณาการภารกิจหน้าที่ร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคมเพื่อรองรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และเกี่ยวข้องกับ 4 หมุดหมายที่สำคัญ คือ หมุดหมายที่ 7 เอสเอ็มอีที่เข้มแข็ง มีศักยภาพ แข่งขันได้

หมุดหมายที่ 9 ความยากจนข้ามรุ่นและความคุ้มครองทางสังคม และหมุดหมายที่ 12 กำลังคนที่มีสมรรถนะสูง รวมทั้งหมุดหมายที่ 13 การมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชนซึ่งเราจะสามารถพลิกโฉมประเทศ ให้โอกาสเติมเต็มช่องว่างความเสมอภาคเศรษฐกิจและสังคมที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนให้กับประชาชนและประเทศไทยในอนาคต
 

ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ

แสงชัย บอกอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงเผชิญวิกฤตแรงงานและเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย

  • สภาวะรายได้ลด กำลังซื้อหด ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีติดลบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคการค้าที่มีสัดส่วน 42% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งประเทศ และผู้ประกอบการภาคการบริการมีสัดส่วน 40% ของผู้ประกอบการเอสเอมอีทั้งประเทศ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การค้าการลงทุนการรุกคืบของธุรกิจต่างชาติที่มีการแข่งขันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ที่สำคัญ (ข้อมูลจาก สสว.) คือ เอสเอ็มอี 52% เผชิญรายได้น้อยกว่ารายจ่าย และ 92% ขาดสภาพคล่องและทุนหมุนเวียน
  • ต้นทุนวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตปรับราคาสูงขึ้น การปรับขึ้นราคาพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง อาหารสัตว์ พลังงานน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม อุปกรณ์และเครื่องจักรต่างเรียงหน้ากระดานเพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อค่าครองชีพประชาชน แรงงาน และผู้ประกอบการทุกขนาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ราคาน้ำมันโดยเฉพาะดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% ของราคาเดิม ส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการและค่าครองชีพอย่างมาก
  • หนี้ครัวเรือน หนี้เสีย หนี้นอกระบบ และความเป็นธรรมของดอกเบี้ย สินเชื่อที่อยู่อาศัย 34% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเผชิญการถูกยึดเพิ่ม สินเชื่อยานยนต์ 11% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดถูกยึดสูงขึ้นอย่างมาก บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในการกำกับ ธปท. 8% เผชิญหนี้เสียที่มีการขยายตัวมากขึ้น สินเชื่อส่วนบุคคลดอกเบี้ยสูงและมีสัดส่วนต่อหนี้ครัวเรือนกว่า 19% ของหนี้ครัวเรือน สินเชื่อธุรกิจ 18% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเข้าถึงยากขึ้นจากข้อมูล ธปท. อัตราการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีไตรมาส 4/2566 ติดลบ 5.1% ต่ำสุดในรอบ 4 ปี ที่ยังอยู่ในสถานการณ์วิกฤตหนี้ หนี้นอกระบบยังบริหารจัดการขาดการบูรณาการเชิงรุกและจากข้อมูล สสว. พบว่าเอสเอ็มอีถึง 36% พึ่งพาหนี้นอกระบบ รวมทั้งเอสเอ็มอี 46% เผชิญอัตราดอกเบี้ยสูง
  • ยกระดับทุนมนุษย์ไม่ทันการเปลี่ยนแปลง การทดแทนแรงงานมนุษย์จากเทคโนโลยี AI การใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยทดแทนแรงงานเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ซึ่งผลสำรวจ สสว. พบว่าเอสเอ็มอี 57% พบปัญหา Disruptive Technology ในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งผลต่อธุรกิจ ขณะที่ 53% ยังไม่มีความพร้อมในการเผชิญการทดแทนแรงงานโดยเครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์ ฉะนั้นงบประมาณในแต่ละปีจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศทุกช่วงวัยเพิ่มขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM2.5 ปัญหาภัยแล้ง นโยบายการขับเคลื่อนกติกาโลกและภูมิภาคด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวของผู้ประกอบการและแรงงานในการรองรับการเปลี่ยนแปลง สร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจสีเขียว และแรงงานสีเขียวที่มีคุณค่า โดย สสว. สำรวจพบเอสเอ็มอี 47% ยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

“เปราะบางเหลื่อมล้ำ บอบช้ำจากโควิด โดนพิษเศรษฐกิจรุมเร้า ติดกับดักหนี้ยั่งยืน ขยี้ซ้ำรายได้ลด ซดต้นทุนเพิ่มรอบทิศ”