ภารกิจใหม่ "แบงก์ออมสิน" เปิดตัว แอปพลิเคชั่นปล่อยกู้กลุ่มเสี่ยงสูง

04 ก.ค. 2567 | 15:50 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2567 | 19:57 น.
11.5 k

วิทัย รัตนากร "ผอ.แบงก์ออมสิน" กางภารกิจใหม่ “ซอฟต์โลนแสนล้าน” เพิ่มสภาพคล่อง SMEs ตั้ง AMC อุ้ม ลูกหนี้รายย่อยเอ็นพีแอล 4.5 แสนบัญชี 33,000 ล้านบาท จ่อ เปิดตัว แอปพลิเคชั่นตัวที่สองปล่อยกู้ “ลูกค้ากลุ่มเสี่ยงสูง”

ธนาคารออมสิน "ธนาคารประชาชน" อยู่คู่คนไทยมาแล้ว 111 ปี จาก "ภารกิจดั่งเดิม" เป็นเครื่องมือส่งเสริม "การออม" วันนี้ ธนาคารออมสิน พลิกบทบาทใหม่ มาเป็น "ธนาคารเพื่อสังคม" 

"4 ปีที่ผ่านมาธนาคารออมสินปรับบทบาทเป็นธนาคารเพื่อสังคม โดยนำกำไรจากธุรกิจเชิงพาณิชย์ปกติมาอุดหนุนภารกิจเชิงสังคม ช่วยคนฐานรากเพิ่มมากขึ้น"วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว 

"ผอ.แบงก์ออมสิน" ชี้แจงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ว่า ในปี 68 ธนาคารออมสินได้รับงบประมาณชดเชย 3,812 ล้านบาท เพื่อชดเชยโครงการตามนโยบายรัฐบาลในอดีต เช่น การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ชดเชยเอ็นพีแอล 

“จากนี้ไปจะใช้กำไรจากธนาคารออมสินทั้งหมด ไม่มีการชดเชยอีกแล้ว ปีที่แล้วเราได้เงินงบประมาณจากรัฐบาล 6,000 กว่าล้านบาท ปีนี้ได้ 3,812 ล้านบาท ก็จะทยอยลดลงไปเรื่อยๆ”   

ภารกิจด้านแรก การสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม (Financial Inclusion) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 

  • สินเชื่อ ผ่อนปรนเงื่อนไขรายย่อย ปี 2563-2566 ช่วยเหลือฐานราก/รายย่อย 3.7 ล้านคน โดยเป็นคนที่เครดิตต่ำและไม่มีเครดิต 3.2 ล้านคน
  • สินเชื่อซอฟต์โลน ผู้ประกอบการ SMEs ปี 2563-2566 สนับสนุนเงินทุน ผู้ประกอบการรายย่อย/เอสเอ็มอี จำนวน 2.5 แสนล้านบาท ช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ 48,000 ราย 

ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อโครงการ Ignite Thailand ด้านท่องเที่ยว การแพทย์/สุขภาพ และอาหาร และในอนาคตจะมีโครงการ GSB Boost Up ซอฟต์โลน 1 แสนล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01 % สำหรับธนาคารพาณิชย์ และสถานบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) 

มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ (เต็มวงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท)

  • สินเชื่อ รีไฟแนนซ์เพื่อสังคม (ยื่นขอสินเชื่อ 4,421 ล้านบาท) ลดภาระหนี้สินเดิม แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน 

การเข้าไปแข่งขันในตลาดที่มีดอกเบี้ยสูงเกินควร

  • สินเชื่อ จำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซต์ อนุมัติสินเชื่อ (มีนาคม 64-พฤษภาคม 66) 2.3 ล้านคน 53,400 ล้านบาท ช่วงคนเข้าถึง ดอกเบี้ยที่เป็นธรรม 5 ล้านคน ตลาดจำนำทะเบียนรถ Non Bank 
  • สินเชื่อ ที่ดินและขายฝาก “มีที่ มีเงิน” ช่วย SMEs ที่มีที่ดิน เข้าถึงแหล่งเงินทุน อนุมัติสินเชื่อ 26,700 ล้านบาท (2563-2566) SMEs จำนวน 5,480 ราย 
  • สินเชื่อ ส่วนบุคคลไม่มีหลักประกัน บริษัท เงินดีดี จำกัด ช่วยให้ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ 

ภารกิจด้านที่สอง แก้หนี้สินรายย่อย / บรรเทาภาระหนี้ ไม่ให้เสียประวัติทางการเงิน ตรึงและลดอัตราดอกเบี้ยช่วยเหลือลูกหนี้ NPL ลดภาระดอกเบี้ยให้ลูกค้า 24,450 ล้านบาท จำนวน 4 ล้านบัญชี 

  • มาตรการช่วยเหลือ ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ ปี 2565-เม.ย.67 จำนวน 1.1 ล้านบัญชี 7.3 แสนล้านบาท 
  • มาตรการช่วยเหลือ บุคลากรทางการศึกษา ปรับโครงสร้างหนี้ครู ปี 2565 – เมษายน 67 จำนวน 2.4 แสนบัญชี ชำระดีได้ลดดอกเบี้ย 0.5-1 % จำนวน 2.3 แสนบัญชี 
  • ลด/ตรึงดอกเบี้ยลูกหนี้ทุกราย ปี 2565 ตรึงดอกเบี้ย M-rete และ ปี 2566 M-rete ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 1.1 ล้านบัญชี ปี 2567 ลดดอกเบี้ย MRR รวม 0.40 % จำนวน 8.5 แสนบัญชี 5.4 แสนล้านบาท 
  • มาตรการช่วยเหลือ ลดดอกเบี้ยค้าง ลูกหนี้ NPL SMEs รหัส 20 และ 21 วงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท และรายย่อย ไม่มีหลักประกัน 1.2 หมื่นบัญชี 
  • มาตรการ ยกหนี้ลูกหนี้รายย่อย หลุดพ้นสถานะ NPL และไม่มีเสียประวัติเครดิต เงินต้น 5,000 ล้านบาท 7.2 บัญชี 8 แสนราย 

ภารกิจด้านที่สาม งานพัฒนา เน้นเรื่องการสร้างงาน-ฝึกอาชีพ คนตกงานกลับไปต่างจังหวัด โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา-มหาวิทยาลัย 67 แห่ง อาชีวะศึกษา 54 แห่ง สารพัดช่าง 78 แห่ง ปีละ 100,000 รายได้ ทำมาแล้ว 3 ปี รวม 300,000 ล้าน

ภารกิจด้านที่สี่ เรื่องการออม ซึ่งเป็นภารกิจดั่งเดิมเพื่อส่งเสริมการออม เช่น เงินฝาก 10 ปี ธนาคารโรงเรียน 1,285 แห่ง 2.3 ล้านบัญชี 
ภารกิจที่ห้า เรื่องความมั่งยืน ธนาคารออมสินเป็นผู้นำในเรื่อง ESG ภายในปี 2030 จะลดคาร์บอนให้ได้ 50 % และปี 2050 เป็น Net Zero พัฒนาในเรื่องของ ESG Score สำหรับบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ใครมี Score สูง ธนาคารลดดอกเบี้ยให้  ซึ่งลดดอกเบี้ยไปแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท 

นายวิทัยกล่าวว่า สำหรับ "ภารกิจใหม่" คือ การจัดตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์ อารีย์ จำกัด หรือ “AMC” ช่วยเหลือลูกหนี้ โดยการปรับโครงสร้างหนี้ รับซื้อ NPLs & NPA เปลี่ยนสถานะ NCB และสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ไตรมาสสาม ปี 67 เริ่มรับซื้อหนี้ธนาคารออมสิน จำนวน 4.5 แสนบัญชี 33,000 ล้านบาท คาดว่าภายในปี 67-68 จะสามารถแก้หนี้ได้อย่างน้อย 2 แสนราย โดยในปี 2568 รับซื้อหนี้จาก SFIs อื่น   

เรื่องสุดท้าย คือ การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคารในระยะยาว โดยการใช้โมบายเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันธนาคารออมสินมีฐานลูกค้าอยู่ในระบบแอปพลิเคชั่นของธนาคารออมสิน หรือ “MyMo” จำนวน 15 ล้านคน

“ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อผ่าน “MyMo” ได้แล้ว ภายในอีกไม่กี่เดือนหลังจากบริษัท เงินดีดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารออมสินได้รับใบอนุญาตอีก 3-4 เดือนจากนี้ จะเปิดแอปพลิเคชั่นตัวที่สองสำหรับลูกค้ากลุ่มเสี่ยงสูง ไม่ต้องมาแบงก์จากนี้ต่อไป” 

นายวิทัยทิ้งท้ายว่า ท้ายที่สุดธนาคารออมสินจะแข็งแรงได้ต้องมีเงินสำรอง โดยธนาคารออมสินเพิ่มเงินสำรองจากวันที่ตนดำรงตำแหน่ง 70,000 กว่าล้านบาท ปัจจุบันอยู่ที่ 120,000 ล้านบาท สำรองส่วนเกินจาก 4,000 ล้านบาท ขึ้นมาเป็น 60,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้จึงมีข่าวว่า รัฐบาลเตรียมจะ "ยืมเงิน" ธนาคารออมสินมาใช้ในนโยบายเรือธง อย่างโครงการ "เงินดิจิทัลวอลเล็ต" สมฐานะ "ธนาคารสารพัดประโยชน์" ของทุกรัฐบาลอย่างแท้จริง