ราคาข้าวเปลือกหอมปทุมฯ แซงข้าวหอมมะลิ ของขาด-ความต้องการตลาดโลกพุ่ง

23 มิ.ย. 2567 | 18:20 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2567 | 18:36 น.
4.2 k

“เกรียงศักดิ์” นายกกิตติมศักดิ์โรงสีข้าวไทย ชี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ราคาข้าวหอมปทุมฯ แซงข้าวหอมมะลิ จากปกติข้าวหอมมะลิจะทิ้งห่างตันละ 500-1,000 บาท ผลพวงจากชาวนาปลูกน้อย ความต้องการโลกเพิ่มขึ้น ลามกระทบพันธุ์ข้าวขาดตลาด

ราคาข้าวเปลือกหอมปทุมฯ แซงข้าวหอมมะลิ ของขาด-ความต้องการตลาดโลกพุ่ง

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกหอมปทุมธานีที่อยู่ในระดับชั้นพันธุ์ข้าวหอมไทย ว่า ราคาข้าวเกี่ยวสด ณ เวลานี้ เฉลี่ยที่ 13,500-14,000 บาท/ตัน ส่วนราคาข้าวแห้ง ความชื้น 15% เฉลี่ย 16,000 -16,500 บาท/ตัน ซึ่งเป็นราคาที่วิ่งแซงราคาข้าวหอมมะลิไปเรียบร้อยแล้ว

โดยเวลานี้ ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้น 15% เฉลี่ยที่ 15,000-16,000 บาท /ตัน(อ้างอิงราคาประกาศสมาคมโรงสีข้าวไทย) ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ราคาข้าวเปลือกหอมปทุมธานีแซงข้าวเปลือกหอมมะลิ ซึ่งไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ จากปกติตลาดการค้าข้าวหากราคาข้าวหอมมะลิขึ้น จะดึงราคาข้าวหอมปทุมฯ ขึ้นไปด้วย และในอดีตราคาข้าวหอมปทุมฯ จะต่าง(หรือต่ำกว่า)ราคาข้าวหอมมะลิตันละ 500-1,000 บาท แต่มาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาราคาข้าวทั้งสองชนิดราคาแทบจะไม่มีความแตกต่างเลย แต่ราคายังไม่แซงข้าวหอมมะลิ

 

ราคาข้าวเปลือกหอมปทุมฯ แซงข้าวหอมมะลิ ของขาด-ความต้องการตลาดโลกพุ่ง

“แต่มาวันนี้ราคากลับมาแซง ขณะที่ข้าวหอมมะลิราคานิ่ง ไม่สามารถไปต่อได้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก่อนหน้านี้เนื่องจากราคาข้าวทั่วไป ปรับตัวขึ้นมาชาวนาก็หันไปปลูกข้าวทั่วไปแทน  ก็ทำให้พื้นที่การปลูกข้าวหอมปทุมฯ ลดน้อยลง  ซึ่งสถานการณ์ตลาดข้าวหอมปทุมธานีมีการทำตลาดต่างประเทศ ที่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายต้องส่งมอบข้าวสารหอมปทุมฯ ไม่สามารถส่งข้าวอื่นแทนได้"

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในตลาดสหภาพยุโรป (อียู) มีการทำสัญญาชัดเจนและให้มีการตรวจดีเอ็นเอ ต้องเป็นข้าวหอมปทุมธานีเท่านั้น ซึ่งเวลานี้พื้นที่เพาะปลูกน้อยลง เพราะชาวนาหันไปปลูกข้าวชนิดอื่นมากขึ้น ประกอบกับข้าวหอมปทุมฯ มีอายุการเพาะปลูก 120 วันก็เก็บเกี่ยวได้ ถือเป็นรางวัลสำหรับชาวนา ที่เก็บเกี่ยวในช่วงนี้ อาทิ  จังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี เป็นต้น ที่ยังยึดติดกับการปลูกข้าวหอมปทุมฯ และจังหวัดชัยนาท คาดว่าจะออกในช่วงเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ดีจากความต้องการสูงมากทำให้ปัจจุบันพันธุ์ข้าวหอมปทุมธานีขาดตลาด ชาวนาไม่มีพันธุ์ปลูก ขณะที่ผู้ประกอบการก็ไม่มีพันธุ์ข้าวเก็บไว้ในสต๊อกเลย 

 

ข้าวหอมปทุมธานี

อนึ่ง ข้าวหอมปทุมธานี อยู่ในชั้นพันธุ์ข้าวหอมไทย ที่มีความหอม นุ่มคล้ายข้าวหอมมะลิ โดยเฉพาะเมื่อเป็นข้าวใหม่ต้นฤดู จะหอม เป็นพิเศษ สามารถปลูกได้ในพื้นที่ชลประทานทั่วไป เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ชอบทานข้าวหอมนุ่ม คุ้มราคา เป็นข้าวหอมพันธุ์หนึ่งที่เกิดจากการพัฒนาพันธุ์ข้าวของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เรียกว่าพันธุ์ปทุมธานี 1 เป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งฤดูนาปี และนาปรัง เป็นข้าวคนละสายพันธุ์และคนละชนิดกับข้าวหอมมะลิไทย      

อ้างอิงสมาคมโรงสีข้าวไทย ราคาข้าวประจำวัน ศุกร์ ที่ 21 มิถุนายน 2567