“พาณิชย์” แถลงส่งออกเดือน พ.ค. 67 บวก 7.2%

21 มิ.ย. 2567 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2567 | 14:54 น.
814

สนค. แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศ เผยตัวเลขส่งออกไทย เดือนพฤษภาคม 2567 ขยายตัว 7.2% ขณะที่ตัวเลขส่งออก 5 เดือนแรกของปี มูลค่า 120,493.4 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.6

วันที่ 21 มิถุนายน 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาตร์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พฤษภาคม 2567 ว่า การส่งออกของไทยมีมูลค่า 26,219.5 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 24,920.3 ล้านดอลลาร์ ขาดดุล 1,641 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกไทยทำให้มูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ดุลการค้ากลับมาเกินดุลในรอบ 5 เดือน โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากการส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ขณะเดียวกันภาคการผลิตของโลกฟื้นตัวได้ดี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลก ที่มีทิศทางขยายตัวเร่งขึ้น ตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 120,493.4 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 125,954.1 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.5% ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,460.7 ล้านดอลลาร์

ด้านการส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป โดยได้มีการดำเนินงานที่สำคัญในเดือนพฤษภาคม อาทิ 

 1. การส่งเสริมการส่งออก ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในด้านภาพยนตร์และอาหาร เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก เพื่อเปิดตลาดภาพยนตร์ แอนิเมชัน ซีรีส์วายของไทยไปสู่ระดับโลก  

 2. การเสริมสร้างความมั่นใจในการเป็นครัวมาตรฐานโลกของไทย หารือกับเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย แสดงความพร้อมในการเป็นแหล่งส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพปลอดภัยไร้สารตกค้าง  

3. การเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าผลไม้โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ จัดกิจกรรมร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์จากจีนในการ Live สด ขายทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรี 

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังเติบโตได้ดีโดยได้รับ ปัจจัยหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช้าแต่มั่นคง โดยการประเมินขององค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่าปริมาณการค้าโลกจะขยายตัวร้อยละ 2.6 จากปีก่อนหน้า จากปัญหาเงินเฟ้อที่บรรเทาเบาบางลง และท่าทีของธนาคารกลางแต่ละประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนและการผลิตโลกให้ฟื้นตัวอีกครั้ง 

แต่ยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในบางเส้นทาง อาจเป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งของแต่ละประเทศยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลต่อนโยบายการค้าที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยด้วย