แบรนด์เนมบุก “เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า” ขยาย Luxury Zone เพิ่มเท่าตัว

13 มิ.ย. 2567 | 11:40 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2567 | 11:42 น.

“เซ็นทรัลพัฒนา” ขนทัพแบรนด์เนมปักหมุด “เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า” พร้อมเดินหน้าขยาย Luxury Zone เพิ่มเท่าตัวเป็น 8,000 ตร.ม. ในปี 68 หนุนททท. เจ้าภาพจัดบิ๊กอีเว้นท์ เซลยกเกาะ หวังดึงทัวริสต์ช้อปไทย

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เซ็นทรัลพัฒนายังคงเดินหน้าขยายการลงทุนในเมืองที่มีศักยภาพต่อเนื่อง โดยในภูเก็ตถือเป็นเมืองที่กลุ่มเซ็นทรัลให้ความสำคัญอย่างมาก เห็นได้จากการเข้ามาลงทุนที่สูงเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ

โดยเริ่มต้นเปิดให้บริการ “เซ็นทรัล ภูเก็ต” ในปี 2547 และด้วยศักยภาพและกำลังซื้อมหาศาล จึงขยายการลงทุนและเปิดให้บริการ “เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า” ในปี 2561 เพื่อรองรับ Luxury Lifestyle เทียบชั้นเมืองชายทะเลระดับโลกอย่าง ริเวียร่า, ซานโตรินี, ไมอามี่บีช และฮาวาย

แบรนด์เนมบุก “เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า” ขยาย Luxury Zone เพิ่มเท่าตัว

“เป้าหมายคือการพัฒนาให้เซ็นทรัล ภูเก็ตเป็น The World’s Luxury Magnitude นั้น สอดคล้องกับการพัฒนาของเมือง และตอบรับแผนยุทธศาสตร์ภาครัฐที่ต้องการพัฒนาให้ภูเก็ตเป็น “Top Destination for Global Jetsetter” ดึงดูดกำลังซื้อสูงทั่วโลก โดยเซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า ที่เป็น World-class luxury mall แห่งเดียวใจกลางภูเก็ต

ด้วยแบรนด์ลักซูรีระดับโลกและเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพจาก ‘Quantity to Quality spending’ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทั้งภาครัฐ-เอกชนจะร่วมกันทำให้ภูเก็ต ไม่มีช่วงโลว์ซีซัน เที่ยวได้-จับจ่ายได้ตลอดทั้งปี โดยปัจจุบันศูนย์การค้าเติบโตต่อเนื่อง และมีทราฟฟิกดีกว่าช่วงก่อนโควิดถึง 30%” 

เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงทั้งคนไทยในภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง กลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย กลุ่ม Expat รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลก ทำให้บริษัทมีแผนขยายพื้นที่ Luxury Zone จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 2,000 ตารางเมตร เป็น 4,000 ตารางเมตรภายในสิ้นปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ตารางเมตรในปี 2568 ซึ่งจะทำให้มีแบรนด์ลักชัวรี เข้ามาเปิดให้บริการภายในศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 14 แบรนด์เป็น 30 แบรนด์ ด้วย

แบรนด์เนมบุก “เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า” ขยาย Luxury Zone เพิ่มเท่าตัว

ด้านนางสาววิไลพร ปิติมานะอารี ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มงานปฎิบัติการสาขาภูเก็ต บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภูเก็ต นับเป็นจังหวัดที่สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 2 รองจากกรุงเทพฯโดยในปี 2566 ภูเก็ตสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวราว 3.8 แสนล้านบาท และในปีนี้ ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าภูเก็ตกว่า 12 ล้านคน คิดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯเช่นกัน

นอกจากนี้ภูเก็ตยังมีแผนขยายสนามบินภูเก็ต เฟส 2 ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 มีสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ โรงพยาบาล, โรงเรียนนานาชาติ, ท่าเรือยอร์ช, สนามกอล์ฟ และ Private Jet เป็นต้น และเซ็นทรัล ภูเก็ต จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มเมืองตอบโจทย์ของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริม Sustainable Economy ให้ภูเก็ตเป็น Hub ระดับโลกในหลายมิติ อาทิ Culinary, Medical & Wellness, Sport Tourism, education, Smart city, Marina และ MICE อีกด้วย ทำให้เชื่อมั่นในศักยภาพของภูเก็ตว่ายังสามารถเติบโตได้อีกมาก

“ปัจจุบันทั้งเซ็นทรัล ภูเก็ตและเซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 8 หมื่นถึง 1 แสนคนต่อวัน มีรายได้มาจากคนไทย 30%, Expat และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 70% ซึ่งการขยาย  Luxury Zoneเพิ่มขึ้น จะช่วยผลักดันให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นราว 20%”

นายณัฐกิตติ์ กล่าวอีกว่า จากฐานข้อมูล The1 ชี้ให้เห็นว่าลูกค้าของเซ็นทรัล ภูเก็ต มียอดใช้จ่ายต่อคนสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพัฒนาทั่วประเทศ โดยลูกค้า Wealth Segment ที่เซ็นทรัล ภูเก็ต มีการใช้จ่ายสูงกว่าลูกค้า Wealth ของสาขาอื่นๆ ถึง 45% สะท้อนการเติบโตของตลาดสินค้าลักซูรีในไทยที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 1.6 แสนล้านบาท

แบรนด์เนมบุก “เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า” ขยาย Luxury Zone เพิ่มเท่าตัว

โดยตลาด Luxury ไทยขยายตัวถึง 5.62% จนถึงปี 2571 คาดว่าจะแซงหน้าตลาดสิงคโปร์ นอกจากนี้บริษัทยังสนับสนุนให้ททท. เป็นเจ้าภาพจัดบิ๊กอีเว้นท์ มหกรรมเซลยกเกาะ (ภูเก็ต) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยว พักผ่อน ช้อปปิ้งและใช้จ่ายเม็ดเงินภายในเกาะภูเก็ตแทนที่ฮ่องกง  เพราะภูเก็ตถคือเป็นเดสติเนชั่นที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกรู้จักและต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆ ของโลก  

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,000 วันที่ 13 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2567