บางกอกแอร์เวย์ส ทุ่ม 2,300 ล้าน ขยายสนามบินสมุย พัฒนาสนามบินตราดแห่งใหม่

13 มิ.ย. 2567 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2567 | 10:38 น.
572

บางกอกแอร์เวย์ส ทุ่ม 2,300 ล้านบาท ขยายศักยภาพสนามบินสมุย รวมถึงสร้างสนามบินตราดในพื้นที่ใหม่ รองรับผู้โดยสารในเที่ยวบินที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น เตรียมจดหาเครื่องบินใหม่ 20 ลำ พร้อมเผยธุรกิจครึ่งปีหลังปี 2567 ยอดจองล่วงหน้าเติบโต 13% รับช่วงไฮซีซั่น

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ เปิดเผยว่าในขณะนี้บริษัท มีแผนจะลงทุนพัฒนาศักยภาพการให้บริการของ 2 สนามบิน ภายใต้การบริหาร ได้แก่ สนามบินสมุย และสนามบินตราด รวมมูลค่าการลงทุน 2,300 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีนี้ 

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

โดยสนามบินสมุย อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของสนามบินสมุย เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น โดยได้วางแผนปรับปรุงสนามบินเพื่อเพิ่มจำนวนพื้นที่พักคอย (Boarding gate) ภายในอาคารผู้โดยสาร จากเดิม 7 อาคาร เพิ่มเป็น 11 อาคาร คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปี เพราะทยอยก่อสร้างทีละเฟส และเพิ่มเคาน์เตอร์เช็คอิน จำนวน 10 เคาน์เตอร์

รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการขออนุญาต รวมถึงการออกแบบในรายละเอียดต่าง ๆ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนราว 1,500 ล้านบาท 

สนามบินสมุย

อีกทั้งปัจจุบันสายการบินอยู่ระหว่างการขอขยายจำนวนเที่ยวบินเข้าสมุย จาก 50 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มเป็น 73 เที่ยวบินต่อวัน เพื่อรองรับความต้องการของสายการบินต่างประเทศที่จะเปิดบินตรงสมุย ส่วนการขยายรันเวย์สนามบินอยู่ระหว่างศึกษา 

ขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินตราด เตรียมแผนจะสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม และขยายระยะทางวิ่ง (Runway) เป็น 2,000-2,100 เมตร เพื่อให้รองรับเครื่องบินเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่กว่า ATR เช่น โบอิ้ง 737 หรือ แอร์บัส เอ 320 จะเริ่มสร้างปี 2568 แล้วเสร็จกลางปี 2569 คาดว่าจะใช้งบประมาณ 700-800 ล้านบาท

เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพของสนามบินตราดให้สามารถรองรับผู้โดยสารในเที่ยวบินที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้ในอนาคต

ทั้งนี้พื้นที่ในการพัฒนาสนามบินตราด จะเป็นการลงทุนในพื้นที่ใหม่ ห่างจากสนามบินตราดเดิมเป็นกิโลเมตร  ซึ่งเป็นที่ดินแลนด์แบงก์ที่มีอยู่แล้ว ราว 1,600 ไร่ แต่จะนำมาพัฒนาราว 200-300 ไร่ เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น สำหรับเส้นทางบินจากต่างประเทศเข้าสนามบินตราด เมื่อสนามบินตราดแห่งใหม่เปิดให้บริการ เราก็อาจจะใช้อาคารสนามบินตราดเดิมทำธุรกรรมเกี่ยวกับคาร์โก้

สนามบินตราด

ส่วนการดำเนินธุรกิจของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 จากยอดการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้า หรือ “Advance Booking” ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในทุกเส้นทาง โดยเป็นเส้นทางสมุยในสัดส่วน 65% จากช่วงเดือนมิถุนายน - เดือน ธันวาคม ปี 2567 เทียบปี 2566 พบว่ายอดจองล่วงหน้ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป 13% โดยไตรมาส 2 มีการเติบโตขึ้น 3% ไตรมาส 3 เติบโตขึ้น 11% ไตรมาสนี้เป็นช่วงพีคซีซั่นของเส้นทางสมุย

ขณะที่ไตรมาส 4 มียอดการจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 35% ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเดินทางช่วงวันหยุดยาวสิ้นปี

จากแนวโน้มยอดการจองในช่วงครึ่งปีหลังที่มีทิศทางที่ดี บางกอกแอร์เวย์สก็ยังคงเป้าหมายการเติบโตตลอดทั้งปี 2567 ที่ 10 % ตั้งเป้าผู้โดยสารไว้ที่ 4.5 ล้านคน สร้างรายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับอุปสงค์การเดินทางที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น บริษัทฯ ได้วางแผนการจัดหาเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 319 เข้ามาเพิ่มในฝูงบินภายในปีนี้อีกจำนวน 2 ลำ โดยปัจจุบันมีเครื่องบินทั้งสิ้นจำนวน 24 ลำ นอกจากนี้ยังมองการจัดหาเครื่องบินในอีก 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 20 ลำ ซึ่งจะมีทั้งฝูงบินใหม่ และทดแทนเครื่องบินเดิม โดยต้องไปพิจารณาความเหมาะสมและความคุ้มค่าว่าจะเช่าหรือจะซื้อเครื่องบิน เพื่อนำมาใช้ขยายเน็ตเวิร์คการบิน โดยเฉพาะสนามบินสมุยที่ทำรายได้สูงสุด เฉลี่ยอยู่ที่ 59% จากเน็ตเวิร์คทั้งหมด

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า ในไตรมาส 2 บริษัทฯ ได้ลงนามข้อตกลงในการให้บริการเที่ยวบินร่วมกับสายการบินลุฟท์ฮันซ่า (LH) และสายการบินสวิสแอร์ (LX) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารของทั้ง 2 สายการบินในการเดินทางเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางยอดนิยมทั้งในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

โดยความร่วมมือด้านเที่ยวบินร่วมกับสายการบินลุฟท์ฮันซ่า มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 และกับสายการบินสวิสแอร์ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านเที่ยวบินร่วม (Codeshare Partner)  ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางบินของสายการบินฯ 

นอกจากนี้สายการบิน ยังได้ออกแคมเปญกระตุ้นการขายและการตลาด บริษัทฯ มีแผนที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายในตลาดกัมพูชา ให้เดินทางมาเที่ยวไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความต้องการของผู้ที่เดินทางมายังประเทศไทยเป็นประจำ โดยเปิดตัวบัตรท่องเที่ยวสุดเอ็กซ์คลูซีฟ “แคมโบเดีย ทราเวลพาส : Cambodia Travel Pass ” มอบประสบการณ์เดินทางฟูลเซอร์วิสแบบไม่จำกัดเที่ยวบิน เป็นระยะเวลา 1 ปี 

พร้อมรับสิทธิประโยชน์มากมาย ในเส้นทางระหว่างพนมเปญ – กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) และ เสียมเรียบ - กรุงเทพฯ(สุวรรณภูมิ) โดยจะเริ่มเปิดจำหน่ายระหว่างวันที่ 1 - 25 กรกฎาคม 2567 และสามารถสำรองที่นั่งหรือเดินทางได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ถึง 31 กรกฎาคม 2568