ครม.จัดหนัก 5.5 หมื่นล้าน ช่วยเอสเอ็มอี จัดสินเชื่อใหม่ - ค้ำประกันเงินกู้

11 มิ.ย. 2567 | 13:22 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2567 | 15:56 น.

ครม.เห็นชอบคลอดมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี 5.5 หมื่นล้าน จัดสินเชื่อ IGNITE THAILAND ให้ 3 กลุ่มเป้าหมาย รายสูงสุด 10 ล้านบาท พร้อมให้ บสย. ค้ำประกันเงินกู้

วันนี้ (11 มิถุนายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 2 โครงการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือ 1.โครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 11 (PGS 11) วงเงินค้ำประกัน 50,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะจัดสรรวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 8,275 ล้านบาท

ทั้งนี้ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีครั้งนี้ รัฐบาลเชื่อว่า จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินองรัฐได้สะดวกมากขึ้น และในการปล่อยกู้ครั้งนี้จะขยายไปถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสถาบันการเกษตรที่เป็นนิติบุคคลด้วย

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ “IGNITE THAILAND” เพื่อสนับสนุนเงินทุนใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

  1. ศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub)
  2. ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub)
  3. ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) 

ทั้งนี้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ “IGNITE THAILAND” ธนาคารออมสิน จะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อวงเงินรวม 5,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายสูงสุด 10 ล้านบาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี ดอกเบี้ยเริ่มต้น 2.5% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ปลอดชำระเงินต้น 6 เดือน โดยรัฐบาลจะรับภาระชดเชยดอกเบี้ย 1,150 ล้านบาท

“โครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND จะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเป้าหมาย เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเพียงพอสำหรับการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามที่รัฐบาลประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ไว้”
 

ส่วนโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 11 (PGS 11) กำหนดวงเงินค้ำประกัน 50,000 ล้านบาท โดยใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อได้รับสินเชื่อตามโครงการได้เพียงพอกับความต้องการดำเนินธุรกิจ โดยฟรีค่าธรรมเนียมการค้ำประกันใน 2 ปีแรก โดยรัฐบาลจะรับภาระชดเชย 7,125 ล้านบาท

ต่อมานายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดว่า โครงการ PGS ระยะที่ 11 เน้นให้ความสำคัญและความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุน และผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินเป็นลำดับแรก พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินอย่างเพียงพอสำหรับการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล IGNITE THAILAND และปรับตัวเพื่อรับมือให้ทันกับสถานการณ์หรือวิกฤตที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กระทรวงการคลังจึงขอเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการ PGS ระยะที่ 11 โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสรุปได้ ดังนี้

วัตถุประสงค์ 

  1. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่สถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SME โดยให้ความช่วยเหลือครอบคลุม ทั้งผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย
  2. เป็นกลไกในการสนับสนุนศักยภาพด้านเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามที่รัฐบาลประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND 8 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่งของภูมิภาค การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน
  3. เป็นกลไกในการช่วยเหลือสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเปราะบาง และผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบธุรกิจทางด้านสนับสนุนสังคมและสิ่งแวดล้อม

วงเงินค้ำประกันโครงการ 

วงเงิน 50,000 ล้านบาท โดย บสย. สามารถกำหนดเงื่อนไขวงเงินค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs แต่ละกลุ่ม หรือแต่ละสถาบันการเงิน หรือโครงการย่อยแต่ละโครงการได้ตามความเหมาะสม

รูปแบบการค้ำประกัน 

  • Portfolio Guarantee Scheme / Package Guarantee Scheme

ระยะเวลารับคำขอค้ำประกันสินเชื่อ 

  • นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 

อายุการค้ำประกันสินเชื่อ 

  • ไม่เกิน 10 ปี

วงเงินค้ำประกันต่อราย 

  • ไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ข้อกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อต่อรายและต่อกลุ่มลูกค้า (Single Guarantee Limit : SGL) ของ บสย. และการยื่นขอให้ค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท 

ค่าธรรมเนียมการค้ำประสินเชื่อ 

รวมทั้งโครงการเฉลี่ยไม่เกิน 1.758% ต่อปี และสามารถจัดสรรอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อที่รัฐบาลจ่ายแทนผู้ประกอบการ SMEs ในแต่ละโครงการย่อยได้ตามความเหมาะสม

กรอบวงเงินค่าประกันชดเชยตลอดโครงการฯ 

รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. บสย. ขอรับเงินงบประมาณชดเชยจากรัฐบาลสำหรับการชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และการชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยจากรัฐบาลเป็นเงินรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 7,125 ล้านบาท (14.25% x 50,000 ล้านบาท)

2. รายได้จากค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ SMEs เฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปีของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อในแต่ละปีตามรายรับที่เกิดขึ้นจริง เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 7,875 ล้านบาท (15.75% x 50,000 ล้านบาท)

ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ 

  • มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 76,900 ราย (เฉลี่ย 0.65 ล้านบาทต่อราย) 
  • ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท (1.2 เท่า)