รีแบรนด์ 55 เมืองรอง สู่‘เมืองน่าเที่ยว’ กระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

16 มิ.ย. 2567 | 08:02 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2567 | 17:22 น.
917

“เศรษฐา” รีแบรนด์ 55 เมืองรอง สู่‘เมืองน่าเที่ยว’ กระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง อัดอินเซ็นทีฟ ดันผู้ว่าราชการจังหวัด สร้างจุดขายในแต่ละพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนท่องเที่ยว ททท. นำเสนออัตลักษณ์ท่องเที่ยวผ่านแนวคิด 5 Must Do in Thailand กระจายรายได้เที่ยวเมืองรอง

ปัญหาหลักของการท่องเที่ยวไทย คือ การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว ที่ส่วนใหญ่จะเกิดการท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวหลัก 22 จังหวัด (เมืองที่มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 6 ล้านคนต่อปี) ส่วนเมืองรองอีก 55 จังหวัด มีการกระจายตัวของการเดินทางท่องเที่ยวที่น้อยมาก แม้ว่าที่ผ่านมา ททท.จะเน้นกระตุ้นเที่ยวเมืองรองต่อเนื่องก็ตาม

รีแบรนด์เมืองรอง 55 จังหวัดสู่ เมืองน่าเที่ยว

ล่าสุดเมื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub) การต่อยอดการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองรองจึงเป็นคีย์แมสเสจ ที่แสดงถึงความพยายามจากทุกภาคส่วน ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเมืองรองภายใต้การรีแบรนด์เมืองรอง 55 จังหวัดให้เป็นเมืองน่าเที่ยว

กระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง (เมืองน่าอยู่)

การท่องเที่ยวรายจังหวัดปี 2566 จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ใน 77 จังหวัดของไทย มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งนับรวมนักท่องเที่ยว (พักค้างคืน) และนักทัศนาจร (ไม่ค้างคืน) พบว่าอยู่ที่ 315.5 ล้านคน ขยายตัว 40.34% จากปี 2565 ขณะที่รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรายจังหวัด ในปีที่ผ่านมารวม 77 จังหวัดอยู่ที่ราว 2.17 ล้านล้านบาท ขยายตัว 100.44% จากปี 2565 โดยเห็นชัดเจนว่า การเดินทางท่องเที่ยวก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ในเฉพาะเมืองหลักเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดหลัก

เปิด 10 จังหวัดแรกที่มีผู้เยี่ยมเยือนสูงสุด

10 จังหวัดที่มีผู้เยี่ยมเยือนสูงสุด เทียบทั้ง 77 จังหวัด จะพบว่า กรุงเทพฯ อยู่ที่ 56.2 ล้านคน ครองส่วนแบ่งมากที่สุดถึง 17.83% หากเทียบกับภาพรวมทั้งประเทศ ตามมาด้วย ชลบุรี 23.2 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วน 7.37% กาญจนบุรี 14.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 4.58% ภูเก็ต 11.3 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 3.58% ประจวบคีรีขันธ์ 11.1 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 3.53% เพชรบุรี 10.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 3.43% เชียงใหม่ 10.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 3.38% พระนครศรีอยุธยา 10.2 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 3.25% นครราชสีมา 7.9 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 2.52% สุราษฎร์ธานี 7.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 2.41%

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนสูงสุด อันดับ 1 กรุงเทพฯ มีรายได้ 7.50 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34.51% ของทั้งประเทศ ตามมาด้วย ภูเก็ต 3.88 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.85% ชลบุรี 2.33 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.71% เชียงใหม่ 8.91 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.10% สุราษฎร์ธานี 8.65 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.98% กระบี่ 5.25 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.42% เชียงราย 4.67 หมื่นล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วน 2.15% ประจวบคีรีขันธ์ 4.42 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.04% สงขลา 3.55 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.64% และเพชรบุรี 3.23 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.49%

ขณะที่  10 จังหวัดที่มีผู้เยี่ยมเยือนน้อยที่สุด คือ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ ปัตตานี ยโสธร ระนอง สิงห์บุรี พิจิตร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีผู้เยี่ยมเยือนเฉลี่ยอยู่ในระดับหลัก แสนคนไม่ถึง 1 ล้านคนต่อปี

กระจายท่องเที่ยวสู่เมืองน่าเที่ยว

จากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่าการท่องเที่ยวที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก หรือเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 6 ล้านคนต่อปี มีอยู่ทั้งหมด 22 จังหวัด ส่วนอีก 55 จังหวัดล้วนเป็นเมืองท่องเที่ยวรอง โดยอยู่ใน ภาคเหนือ 16 จังหวัด ภาคอีสาน 18 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 5 จังหวัด และภาคใต้ 9 จังหวัด ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยว จะอยู่ในเมืองหลักคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% เมืองรองอยู่ที่ราว 20%

ที่เป็นเช่นนี้เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ทั้งคนไทยและต่างชาต  หากจะเลือกใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ก็อยากไปเที่ยวเมืองหลักมากกว่า เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อเป็นแรงดึงดูด ประกอบกับเมืองท่องเที่ยวรอง จะมีปัญหาเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง ทั้งบก นํ้า อากาศ  ที่ไม่เชื่อมต่อ ทำให้การเดินทางเข้าถึงไม่สะดวกเหมือนไปเที่ยวเมืองหลัก รวมถึงการขยายตัวของที่พักในแบบโรงแรมที่มีระดับ จะมีน้อย เพราะไม่คุ้มกับการลงทุน การลงทุนที่พักส่วนใหญ่จึงจะเป็นโรงแรมในแบบท้องถิ่น หรือ ที่พักในลักษณะโฮมสเตย์

ดังนั้นการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ก็จะติดหล่มกันอยู่ที่ จะต้องรอสร้างตลาดให้มีดีมานต์นักท่องเที่ยวที่มากพอ เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เห็นศักยภาพในการเข้าลงทุน หรือ จะต้องสร้างให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก่อน เพื่อดึงดีมานต์การเดินทางเข้าไป แต่วันนี้ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเมืองรอง ก็ทำให้เกิดเป้าหมายเดียวกันที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ต้องทำงานร่วมกันเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่แค่ให้ททท.ทำโปรโมทเพียงด้านเดียวอย่างในอดีตที่ผ่านมา

ทำให้จากนี้เราจะเริ่มเห็นการพัฒนาทั้งฝั่งซัพพลายไซด์ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นดีมานต์การเดินทาง ที่เริ่มคิ๊กออฟแล้ว หลังจากล่าสุดนายกเศรษฐา ได้รีแบรนด์ เมืองรอง 55 จังหวัด ให้เป็น “เมืองน่าเที่ยว” การออกมาตรการลดหย่อนภาษี ประจำปี 2567 สำหรับบุคคลธรรมดา ที่นำค่าใช้จ่ายเมื่อเที่ยวเมืองรอง มาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท และสำหรับนิติบุลคล หักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับอบรมสัมมนาเมืองรอง แม้มาตรการนี้จะได้ประโยชน์เฉพาะในกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ไม่ได้กระตุ้นตลาดในวงกว้าง แต่อย่างน้อยก็เป็นแรงจูงใจให้คนมองที่จะเที่ยวมองรองได้ในระดับหนึ่ง

ควบคู่ไปกับการสร้างจุดขายในแต่ละพื้นที่ ซึ่งททท.จะร่วมมือกับพื้นที่นำเสนออัตลักษณ์ท่องเที่ยวผ่านแนวคิด 5 Must Do in Thailand นำเสนอเสน่ห์ไทย ด้วย Must Eat : อิ่ม อร่อยกับอาหารถิ่นทั่วไทย Must See : ละลานตา วัฒนธรรมไทย Must Seek : Unseen ถิ่นน่าเที่ยว Must Buy : หัตถกรรมลํ้าค่าน่าซื้อฝาก และ Must Beat : สุดยอดกีฬา ท้าทายกายใจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจในการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเมืองน่าเที่ยว ก่อให้เกิดการกระจายรายได้

นอกจากนี้ททท.ยังมีแผนพัฒนาเส้นทางจากเมืองหลักกระจายสู่เมืองรอง ที่จะนำร่องใน 5 เส้นทาง ได้แก่ Lanna Culture เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อารยธรรมล้านนา Unesco Heritage Trial สุโขทัย-กำแพงเพชร-นครราชสีมา มรดกไทย มรดกโลก  Naga Legacy นครพนม-สกลนคร-บึงกาฬ ตามรอยศรัทธาพญานาคค้นพบวิถีชีวิต ความเชื่อท้องถิ่น Paradise Islands ตรัง-สตูล หมู่เกาะแห่งอันดามันใต้ สวรรค์แห่งท้องทะเล The Wonder of Deep South ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาสใต้สุดแห่งสยามมนต์เสน่ห์แห่งพหุวัฒนธรรม ไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยจีน

อีกทั้งล่าสุดนายกรัฐมนตรี ยังได้เรียกผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด มาให้นโยบายในการร่วมกันขับเคลื่อนท่องเที่ยว โดยหลักๆ จะเป็นการมอบนโยบายการทำงานเพื่อส่งเสริมเมืองน่าเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยขอให้ทุกจังหวัดพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ถนน ระบบขนส่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและ เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง

การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดทำแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเมืองรองอย่างเข้มข้น ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยการใช้สื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น โดยขอให้พัฒนานโยบายเพื่อสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การสนับสนุนทางการเงิน และการจัดการฝึกอบรมเพื่อยกระดับคุณภาพการบริการ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในแต่ละจังหวัด เพิ่มทางเลือกและความหลากหลายให้นักท่องเที่ยว การผลักดันบางจังหวัดให้เป็นมรดกโลก การปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวและการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น

แนะรัฐปรับ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ หนุนเที่ยวเมืองรอง

นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ตามที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) และมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงโลว์ซีซัน ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-30 พ.ย. 2567 ในมุมสมาคมฯ พอใจกับมาตรการดังกล่าว แต่ยังไม่ถึงกับเต็มร้อย เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ได้ประโยชน์ทางภาษีมีไม่มาก เช่น มนุษย์เงินเดือน

แต่ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ใช้สิทธิ์นี้ไม่ได้ เช่น วัยเกษียณ จึงอยากให้รัฐบาลออกมาตรการกว้างขึ้น ครอบคลุมกลุ่มอื่นๆ ด้วย เพื่อกระตุ้นท่องเที่ยววันธรรมดา ซึ่งสามารถขยายไปถึงเดือน ธ.ค. ได้เลย

อยากให้รัฐบาลออกมาตรการกว้างกว่านี้ ด้วยการขยายกลุ่มเป้าหมาย เช่น วัยเกษียณ ซึ่งมีอำนาจซื้อสูง ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อด้วยรูปแบบอื่นเพิ่มเพื่อเข้าถึงคนหมู่มาก จุดนี้ต้องให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ททท. ช่วยคิด โดยอาจจะปรับแต่ง (Reshape) จากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ด้วยการยึดหลักการภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งแก่ผู้ได้สิทธิ์ช่วยให้คนไทยจ่ายน้อยลง ออกไปท่องเที่ยวมากขึ้น นายเทียนประสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามสำหรับมาตรการเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท สำหรับการเดินทางของบุคคลธรรมดาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.- 30 พ.ย. 2567 นี้ จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ 581.25 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนบุคคลธรรมดาที่คาดว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวน 250,000 รายอย่างไรก็ตามมาตรการภาษีดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ขณะที่การดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ สำหรับนิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้ 2 เท่า สำหรับอบรมสัมมนาเมืองรอง จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่คาดว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จำนวน 2,000 ราย ซึ่งประมาณการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสัมมนารายละ 3 ล้านบาท รวมประมาณ 6,000 ล้านบาท