เปิด 4 ปัจจัย หนุนอัตราเงินเฟ้อ มิ.ย. คาดปรับตัวสูงขึ้นแต่ชะลอตัว

09 มิ.ย. 2567 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2567 | 11:04 น.

สนค. เผย แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนมิถุนายน 2567 คาดปรับตัวขึ้นสูงแต่ชะลอตัว จาก 4 ปัจจัยหลัก ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมิถุนายน 2567 ก็คาดว่าจะมีแนวโน้มสูง ตามราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนพฤษภาคม  2567 เท่ากับ 108.84 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.54% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปบวกเพิ่มต่อเนื่องเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 13 เดือน

ขณะเดียวกัน แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายน ปี 2567 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. ฐานราคาต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าลดลง
  2. การต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าครัวเรือน
  3. ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผักสดปรับตัวลดลง
  4. การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระดับต่ำ 

ส่วนปัจจัยที่ทำให้สินค้าบางชนิดยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ ปรับมาอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตรสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปี 66 ความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตาม

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤษภาคม 2567 ปรับตัวสูงขึ้น 3.9% ประกอบด้วย

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้น 4.3% โดยมีกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องจักรและเครื่องมือ และกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้น 9.5% เป็นผลจากสินค้าสำคัญได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว อ้อย ยางพารา พืชผัก ทุเรียน และสับปะรดโรงงาน ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์ จากเหมือง ลดลง 16.6% จากราคาสินค้าก๊าซธรรมชาติ และเกลือสมุทร

ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต ประกอบด้วย ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป และหมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้น 4.1% และ 5.8% ตามลำดับ ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลง 1.0% จากกลุ่มสินค้าวัตถุดิบ ที่ไม่ใช่อาหาร ลดลง 3.8% สำหรับกลุ่มสินค้าวัตถุดิบสำหรับอาหาร สูงขึ้น 1.2%

ทั้งนี้ ในห่วงโซ่อุปทานมีสินค้าสำเร็จรูปที่ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง่งปลายข้าว ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวสารเหนียว ยางแผ่นดิบ น้ำยางสด เศษยาง ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้นและอ้อย น้ำตาลทราย

อย่างไรก็ดี ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิถุนายน 2567 มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ มาตรการอุดหนุนด้านพลังงานของภาครัฐที่ลดลง ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องในหมวดอุตสาหกรรม รวมไปถึงต้นทุนวัตถุดิบและ ค่าขนส่งที่ส่งผลกระทบตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น เมื่อรวมกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากภาคการเลี้ยงปศุสัตว์ อาจส่งผลให้สินค้า ในหมวดเกษตรกรรมปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งฐานราคาปี 2566 อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยที่ต่ำ จะทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ ราคาพลังงานในตลาดโลกที่ยังมีความผันผวนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าระลอกใหม่ที่เริ่มต้นขึ้น รวมไปถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ทยอยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบ ต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ และจะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด