รัฐบาลเปิดทาง AOT รวบ 28 สนามบินทย. ตั้งบริษัทลูกโอนสิทธิบริหารเชิงพาณิชย์

04 มิ.ย. 2567 | 02:30 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มิ.ย. 2567 | 22:27 น.
4.9 k

รัฐบาลเปิดทาง AOT รวบ 28 สนามบิน ภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. ให้บริหารจัดการสนามบิน ทอท.เร่งศึกษา จ่อตั้งบริษัทลูกโอนสิทธิบริหารเชิงพาณิชย์ ปรับภารกิจทย.เหลือแค่สร้างสนามบินใหม่

นโยบายการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT หรือ ทอท. โอนสิทธิบริหารสนามบินภูมิภาค ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มาให้ทอท.บริหารนั้น ไม่ได้มีเพียง 3 สนามบิน อย่าง สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ เท่านั้น เมื่อล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบัน ยังมีนโยบายจะโอนอีก 25 สนามบินของทย. ให้ ทอท.บริหารจัดการด้วยเช่นกัน 

สนามบินภูมิภาคของกรมท่าอากาศยานหรือทย.ที่มีรายได้สูงสุด

การโอนสิทธิ์ให้  AOT เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการสนามบินของทย. ในยุครัฐบาลที่ผ่านมา นายก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งมี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” แห่งพรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ครม.ได้อนุมัติในหลักการ ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2565 ให้โอนสิทธิบริหาร 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์

แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถโอนได้ เนื่องจากทย.ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อขอใบรับรองสนามบินสาธารณะ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT

เนื่องจากในอดีตหาก เป็นสนามบินของเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ จะต้องดำเนินการตามมาตรฐาน เพื่อให้ได้ใบรับรองสนามบินสาธารณะ จึงจะเปิดให้บริการได้ ยกเว้นสนามบิน ของรัฐที่ไม่ได้กำหนดในเรื่องนี้ไว้ ดังนั้นเมื่อทอท.จะรับโอนมา สนามบินเหล่านี้ก็ต้องให้ได้ใบ รับรองสนามบินสาธารณะเสียก่อน ทอท.จึงเข้าไปบริหารจัด การได้ นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีเรื่องของการเจรจาจ่ายค่าชดเชยกองทุนหมุนเวียนของทย.ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป

กระทั่งล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบันนายก “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งมี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แห่งพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค

หนึ่งในนั้น คือ นโยบายที่จะผลักดันให้มีการโอนสิทธิสนามบินของทย.เพิ่มอีก 25 แห่ง เข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของทอท. เพื่อให้ทย.ทำหน้าที่หลัก ในการสร้างสนามบินใหม่ ซึ่งตามแผนทย.มีแผนจะสร้างสนามบินใหม่จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินมุกดาหาร สนามบินบึงกาฬ สนามบินพัทลุง สนามบินสารสินธุ์ (รอยต่อระหว่างจ.กาฬสินธุ์-มหาสารคาม) สนามบินสตูล และสนามบินพะเยา

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า การโอนย้าย 3 สนามบินของทย. ได้แก่ สนามบินอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ ยังไม่สามารถดำเนินการ เนื่องจากต้องรอให้สนามบินต่างๆ ได้รับใบรับรองสนามบินสาธารณะก่อน และล่าสุดจากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มอีก 25 สนามบิน ให้ทอท.มาบริหารจัดการ รวมแล้วจะมีทั้งหมด 28 สนามบินของทย. (ยกเว้นสนามบินตาก เนื่องจากไม่ได้ใช้งานเชิงพาณิชย์ แต่ใช้ทำการบินเรื่องฝนหลวงเป็นหลัก) จากปัจจุบันทย.มี สนามบินทั้งหมด 29 แห่ง

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์

การที่รัฐบาลมองว่า จะโอนให้ทอท. เพราะมองว่าเป็น การลดภาระการลงทุนของภาครัฐ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลต้องตั้งงบชดเชยการขาดทุนให้กองทุน ทย.ปีละกว่า 3 พันล้านบาทต่อปีทุกปี ซึ่งการจะโอน 25 สนามบินที่จะเกิดขึ้น ทอท.จะต้องดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) เสียก่อน คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการศึกษาเป็น เวลาราว 6 เดือน

ทั้งนี้ด้วยความที่ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจ และต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นด้วย เบื้องต้นเกณฑ์หลักๆ ที่ทอท.จะต้องพิจารณา ในการรับโอน 25 สนามบิน การพิจารณาว่าจะรับโอนสิทธิบริหารสนามบินไหนนั้น ต้องวิเคราะห์ว่าถ้ารับมาแล้วจะสามารถเปิดกิจการและดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ ซึ่งทอท.ต้องศึกษารูปแบบในแต่ละสนามบิน ว่ามีศักยภาพเชิงพาณิชย์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารจัดการ และมาร์เก็ต เซ็กเม้นท์ของตลาดด้วย เช่น สนามบินหัวหิน ถ้าทำให้ได้มาตรฐาน ก็จะเป็นสนามบินขนาดเล็กได้

ผู้ใช้บริการสนามบินภูมิภาคของทย.

 

สนามบินที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ อาทิ สนามบินขอนแก่น สนามบินตรัง สนามบิน นครศรีธรรมราช สนามบินแพร่ สนามบินน่าน สนามบินแม่ฮ่องสอน ส่วนสนามบินไหนที่ไม่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ก็ต้องพิจารณาว่าสนามบินนั้นเหมาะแก่การใช้งานแบบใด หรือใช้ประโยชน์ในภารกิจ ก็น่าจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะโอนสิทธิบริหารให้กับหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์ เป็นต้น

ดร.กีรติ ยังกล่าวต่อว่า  สำหรับรูปแบบการรับโอนสิทธิบริหารสนามบินที่จะเกิดขึ้น ทอท.มองถึงการตั้งบริษัทลูกเข้ามา บริหารจัดการสนามบิน จะไม่ ได้ดำเนินการโดยทอท.โดยตรง  การตั้งบริษัทลูกเข้ามาบริหาร เพราะถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจจะไม่คล่องตัว และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ซึ่งการตั้งบริษัทลูกที่เรามองไว้ คือ อาจตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ทอท.ถือหุ้นอยู่ส่วนหนึ่ง ดึงเอากองทุนวายุภักษ์ มาร่วม

ถือหุ้นส่วนหนึ่ง เพื่อให้มีความคล่องตัว ซึ่งจะไม่มีการดึงเอกชนเข้ามาร่วมถือหุ้น เพราะเป็นการ “บริหารทรัพย์สินของรัฐ” ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าไม่เกิน 6 เดือนจากนี้จะได้ข้อสรุปเช่นกัน

ส่วนในกรณีของข้าราชการ ของทย. หากมีสนามบินไหนโอนมาให้ทอท. คนที่เคยทำงานในสนามบินก็อาจไปอยู่บริษัทลูก ที่ทอท.จะจัดตั้งขึ้น หรือบางส่วนก็โอนกลับเข้าสู่กระทรวงคมนาคม ขณะที่การจ่ายค่าชดเชยให้ทย. ถ้าทอท.รับมาบริหารจัดการ เราก็จะชดเชยส่วนขาดของกองทุนหมุนเวียนของทย. ซึ่งที่ผ่านทย.ระบุว่า สนามบินกระบี่ เป็นสนามบินหลักที่เลี้ยงทุกสนามบินของทย. ซึ่งสนามบิน กระบี่มีกำไรราว 200 กว่าล้านบาท วันนี้รัฐเคลียร์ให้ทอท. บริหารจัดการ เราก็จ่ายชดเชยให้เขาตรงนี้ก็จบ ก็จะเสนอครม.พิจารณาต่อไป เพราะสนามบินที่เหลือส่วนใหญ่จะขาดทุน

ขณะเดียวกันเมื่อทอท.รับโอนสิทธิบริหารจัดการสนามบิน มา ทอท.ก็ต้องมีการลงทุนเพื่อยกระดับการบริหารจัดการ การพัฒนาสนามบิน อย่าง 3 สนามบิน ที่จะโอนมาก่อน อย่างสนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่ ทอท.ก็ไว้วางงบลงทุนไว้ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายขีคดวามสามารถของสนามบินต่อเนื่องด้วยเช่นกัน