"อนุสรณ์" แนะยุบ-แปรรูปรัฐวิสาหกิจลดภาระการคลังกิจการที่ไม่จำเป็น

03 มิ.ย. 2567 | 09:28 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2567 | 09:28 น.
963

"อนุสรณ์" แนะยุบ-แปรรูปรัฐวิสาหกิจลดภาระการคลังกิจการที่ไม่จำเป็น ชี้ควรล่อยให้เอกชนหรือกลไกตลาดทำงาน พัฒนาและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนสูงและขาดประสิทธิภาพให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ของภาครัฐ 

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แผนการคลังระยะปานกลางต้องให้สำคัญกับการปฏิรูปรายได้ภาครัฐด้วยการขยายฐานภาษีทรัพย์สิน 

การยุบหรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อลดภาระทางการคลังในกิจการที่ไม่มีความจำเป็นที่รัฐต้องให้บริการ หรือปล่อยให้เอกชนหรือกลไกตลาดทำงานจะดีกว่า พัฒนาและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่มีการขาดทุนสูงและขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ของภาครัฐ 

โดยเฉพาะ รฟท. ขสมก. รัฐบาลควรเพิ่มการนำกำไรส่งคลังของรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% ปีงบประมาณ 66 มีเป้าหมายส่งรายได้เข้าคลังประมาณ 1.49 แสนล้านบาทต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ในปี 67 และ 68 หรือ อย่างน้อยปีละ 1.8 แสนล้านในระยะ 5 ปีข้างหน้า 
 

การเลื่อนชั้นรายได้แรงงานให้สูงขึ้นอาจไม่เพียงพอ ต้องดำเนินการปฏิรูปรายได้ภาครัฐและสร้างฐานภาษีใหม่ในแผนการคลังระยะปานกลางด้วย การสร้างฐานภาษีใหม่นอกจากเพิ่มแหล่งรายได้ภาษีของรัฐแล้วยังต้องตั้งเป้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจอีกด้วย 

งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นรวมทั้งงานของ Muthitacharoen & Burong (2023) พบว่า ในช่วง ค.ศ. 2009-2019 การเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยรุนแรงขึ้น งานศึกษาของ Muthitacharoen & Burong (2023) บ่งชี้ว่า คนกลุ่ม Top 1% มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มอย่างเห็นได้ชัดจากราว 9% ในปี ค.ศ. 2009 เป็น 11% ในปี ค.ศ. 2008 

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างกลุ่มคนรายได้ปานกลางและกลุ่มฐานะยากจนไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก รวมถึงโอกาสในการเลื่อนชั้นรายได้ของกลุ่มคนยากจนและรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูงมีน้อยมาก 
 

ขณะที่กลุ่มรายได้ปานกลางมีฐานะยากจนลง ราว 35% ของแรงงานในระบบภาษียังคงอยู่ในชั้นรายได้เดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงปี ค.ศ. 2009-2019

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่ออีกว่า โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ขึ้น (Upward Mobility) ของชาวไทยทั้งหมดนั้นอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ โอกาสในการการเลื่อนชั้นรายได้สูงขึ้นของแรงงานในระบบภาษีก็ต่ำเช่นเดียวกัน การทำให้แรงงานมีความมั่นคงในงาน มีสวัสดิการดีขึ้น มีสัญญาจ้างยาวขึ้น 

การปรับเงินเดือนขั้นต่ำ การส่งเสริมการออมภาคบังคับและการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้แรงงานมีฐานรายได้จากการลงทุนและรายได้จากทรัพย์สินเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากรายได้จากการจ้างงาน (Earnings) รัฐบาลจะขยายฐานภาษีได้ก็ต่อเมื่อสามารถทำให้คนส่วนใหญ่สามารถเลื่อนชั้นรายได้ให้สูงขึ้น 

และ มีรายได้อื่นๆนอกเหนือจากรายได้จากทำงาน และสิ่งนี้กระทรวงการคลังสามารถทำพร้อมกับการเพิ่มอัตราภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้ากว่าเดิม และ มีเหตุผลในการทำได้เพราะความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างในระบบมีสาเหตุหลักมาจากผู้มีรายได้สูง 1% ของระบบ