จับตาประมูลข้าว 10 ปี ถูกกดราคาต่ำ ส่งออกผวาขาดทุน “ธนสรรไรซ์”ยันร่วมแน่

31 พ.ค. 2567 | 13:04 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2567 | 13:21 น.

วงการเสียงแตกร่วม-ไม่ร่วม ประมูล “ข้าว 10 ปี” ผู้ส่งออกผวาตรวจพบสารตกค้างภายหลัง ทุบราคาดิ่ง ทำขาดทุนอ่วม ระบุเนื้อข้าวอาจเหลือแค่ 1.3 หมื่นตันหลังปรับปรุงคุณภาพ “ข้าวถุง” ห่วงผู้บริโภคไม่ตอบรับ ทำแบรนด์เสีย “ธนสรรไรซ์” ยันพร้อมร่วมประมูล นักวิชาการจับตาถูกกดราคาต่ำ

รัฐบาลสั่งเดินหน้าเปิดประมูลข้าวค้างสต๊อก 10 ปีแบบเหมาคลังที่ตกทอดมาจากโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปริมาณรวม 1.5 หมื่นตันในคลังของบริษัท พูนผลเทรดดิ้ง จำกัด และคลังกิตติชัย ที่ จ.สุรินทร์ ท่ามกลางสายตาของหลายฝ่ายที่จับจ้องว่าจะมีสนใจร่วมประมูลมากน้อยเพียงใด ข้าวที่กองอยู่ในคลังลึกลงไปหลายชั้นจะมีสารตกค้างหรือไม่ แม้ผลการตรวจสอบตัวอย่างข้าวจากคลังของรัฐบาล อ้างอิงผลทดสอบทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ ไม่พบสารทั้งสารพิษจากเชื้อรา สารรมควัน สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด รวมถึงสารหนู ถือว่าข้าวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถรับประทานได้และยังมีคุณค่าทางโภชนาการ

อย่างไรก็ดียังมีเสียงจากผู้เห็นต่างเรื่องผลการทดสอบคุณภาพข้าว เพราะก่อนหน้ามีแล็บของมหาวิทยาลัยชื่อดังตรวจพบสารตกค้างอะฟลาท็อกซินในบางตัวอย่างของข้าวที่จะนำมาประมูล และเสียงจากทูตทางฝั่งแอฟริกาที่แสดงความกังวลต่อกระแสข่าวที่ไทยจะส่งออกข้าวล็อตดังกล่าวไปขายในกลุ่มประเทศแอฟริกา ซึ่งต่อมานายภูมิธรรม เวชยชัย รองรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศได้พูดคุยกับทูตแอฟริกาประจำประเทศไทยทุกประเทศเพื่อชี้แจงถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ให้เข้าใจแล้ว

ร่วมฟังทีโออาร์หงอย

ล่าสุด(29 พ.ค. 67) องค์การคลังสินค้า (อคส.) แม่งานในการเปิดประมูลข้าวในล็อตนี้ได้เปิดชี้แจงรายละเอียดสำหรับผู้สนใจร่วมประมูล มีผู้ร่วมรับฟัง 10 ราย ตามไทม์ไลน์ทาง อคส.จะเปิดให้มีการยื่นซองเสนอซื้อ 1 คลังต่อ 1 ซอง และเปิดซองผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะมีการต่อรองราคากับผู้เสนอซื้อในราคาสูงสุดในแต่ละคลัง หากมีสองรายขึ้นไปเสนอราคาเท่ากัน จะให้เสนอราคาเพิ่มเติมไม่ต่ำกว่าครั้งละ 5,000 บาท จนกว่าจะได้ผู้เสนอราคาสูงสุดเพียงรายเดียว (กราฟิกประกอบ)

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากเงื่อนไขการประมูล(ทีโออาร์)การจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลในครั้งนี้ ในการเข้าดูตัวอย่างข้าว (ตามข้อ 4.2) ให้ผู้ประมูลดูตัวอย่างข้าวทางกายภาพด้วยสายตาเพื่อประกอบการพิจารณาเสนอราคารับซื้อข้าวในคลังสินค้าเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำตัวอย่างข้าวออกนอกคลังสินค้า หรือดำเนินการตรวจสอบด้วยวิธีอื่นใดกับข้าวในคลังสินค้า

เรื่องนี้มองว่าไม่เป็นธรรม หรือไม่แฟร์กับผู้ที่สนใจเสนอซื้อ เพราะหากประมูลข้าวได้ไปก็ต้องนำไปตรวจสอบคุณภาพเองอีกครั้งเพื่อสร้างเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า หรือผู้บริโภค กรณีนำไปปรับปรุงคุณภาพเพื่อส่งออก หรือเพื่อจำหน่ายในประเทศ ที่การประมูลครั้งนี้ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าเพื่อส่งออก เพื่อบริโภคในประเทศ หรือเพื่ออุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่ม

จับตาประมูลข้าว 10 ปี ถูกกดราคาต่ำ ส่งออกผวาขาดทุน “ธนสรรไรซ์”ยันร่วมแน่

เสี่ยงราคาตกหลังประมูลได้

ขณะเดียวกันต้องแบกรับความเสี่ยง ยกตัวอย่าง กรณีประมูลซื้อข้าวไปได้ในราคาสูง เช่น 15 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เคยให้ข่าว โดยเชื่อว่าราคาประมูลน่าจะอยู่ที่ประมาณ 15 บาทต่อ กก. หรือ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน หากขายได้หมดทั้ง 2 คลัง 1.5 หมื่นตันจะได้เงินเข้ารัฐไม่ต่ำกว่า 200-400 ล้านบาท แต่หากซื้อไปแล้วภายหลังตรวจพบสารตกค้างและขายเพื่อการบริโภคของคนไม่ได้ อาจต้องยอมขายเพื่อใช้ทำเอทานอล ที่อาจได้ราคาเพียง 5 บาทต่อ กก. หรือขายได้เพียง 75 ล้านบาทเท่านั้น ถือเป็นราคาที่ต่างกันมาก เสี่ยงขาดทุน และอาจถูกมองว่ารัฐปกปิดข้อมูลอะไรอยู่หรือไม่

“นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงหากประมูลไปเพื่อส่งออก ซึ่งข้าวที่ประมูล 1.5 หมื่นตันนี้ ระบุเป็นข้าวหอมมะลิ ที่เวลานี้ราคาในตลาดโลกพุ่งสูงกว่า 900 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่ข้าวหอมมะลิค้างสต๊อก 10 ปี ถือเป็นข้าวเก่ามากและมีความหอมเหลือน้อย ไม่มีใครทำตลาดข้าวหอมมะลิเก่าค้างสต๊อก 10 ปีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทำให้ราคาที่รัฐบาลจะเปิดประมูลต้องตีในราคาข้าวขาว 5% ซึ่งเวลานี้ข้าวขาว 5% ของไทยที่ขายในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 630 ดอลลาร์ต่อตัน หากนำข้าวเก่านี้ไปขายในราคา 500 กว่าดอลลาร์ต่อตันก็คงไม่มีใครสนใจ กินข้าวใหม่ดีกว่า นอกจากจะไปขายต่ำกว่า 500 ดอลลาร์ต่อตันอาจจะมีคนซื้อ”

เนื้อข้าวจริงแค่ 1.3 หมื่นตัน

ขณะเดียวกันในข้อเท็จจริงข้าวเก่า 10 ปีที่มีสีเหลืองงา เมล็ดเสื่อม และมีมอดแมลง ในการนำไปปรับปรุงคุณภาพ ต้องนำไปขัดสีไม่ต่ำกว่า 3 รอบเพื่อให้ข้าวมีความขาวเงาขึ้น ส่วนหนึ่งจะทำให้น้ำหนักหรือเนื้อขาวหายไปไม่ต่ำกว่า 20% เพราะที่ขัดสีและสูญเสียไปจะกลายเป็นปลายข้าว หรือรำข้าว จากน้ำหนักข้าว 1.5 หมื่นตัน ประเมินจะเหลือประมาณ 1.3 หมื่นตัน ทำให้เสียโอกาสทางการตลาด

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการข้าวถุง กล่าวว่า การเปิดประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาลครั้งนี้ คงมุ่งเป้าไปที่เพื่อส่งออกเป็นหลัก ผู้ประกอบการข้าวถุงที่ส่วนใหญ่เพื่อจำหน่ายในประเทศให้ความสนใจในการเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้น้อย จากข้าวถุงส่วนใหญ่จะใช้ข้าวใหม่ในการทำตลาดเป็นหลัก ขณะเดียวกันอาจมีบางรายที่สนใจร่วมประมูล และหากประมูลได้มา เมื่อนำเข้ามาปรับปรุงคุณภาพ โดยนำไปผสมกับข้าวหอมมะลิใหม่ขาย หากผู้บริโภคทราบว่าเป็นข้าวที่ประมูลมาได้ในล็อตนี้ อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า นำมาซึ่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ รวมถึงยอดขายของผู้ประกอบการรายนั้นได้

นายสมเกียรติ มรรคยาธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจในเครือข้าวมาบุญครอง กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่มีประสบการณ์ในการทำตลาดข้าว 10 ปี และไม่เคยมีวัตถุดิบประเภทนี้มาก่อน ทำให้ไม่สนใจในการเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ อย่างไรก็ดีมองว่าการเปิดประมูลข้าวครั้งนี้เป้าหมายหลักเพื่อการส่งออกมากกว่า

 “ธนสรรไรซ์” ยันร่วมประมูล

 ขณะที่นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด หนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทจะเข้าร่วมประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาลครั้งนี้อย่างแน่นอน โดยเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมรับฟังรายละเอียดเงื่อนไขการประมูลที่กระทรวงพาณิชย์ ในเบื้องต้นมีเป้าหมายเพื่อนำข้าวไปปรับปรุงคุณภาพเพื่อส่งออกเป็นหลัก ส่วนหากประมูลได้จะนำมาทำเป็นข้าวถุงที่มีหลายแบรนด์ที่บริษัททำตลาดอยู่ด้วยหรือไม่นั้นต้องดูเนื้อข้าวอีกที

“ที่ผ่านมารัฐบาลได้นำข้าวไปตรวจ ผลออกมาก็เคลียร์หมดแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ยืนยันข้าวยังมีคุณภาพและความปลอดภัย ก็ไม่น่าจะมีอะไรไปมากกว่านี้ ราคาที่เราจะประมูลคงเป็นไปตามสภาพข้าว คงไม่ได้อ้างอิงราคากลางที่หากจะมีแต่อย่างใด”

จับตาประมูลถูกกดราคาต่ำ

ด้าน รศ. สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอิสระ อดีตนักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ได้ตั้งข้อสงสัยและฝากถึงรัฐบาลว่า ควรปรับขั้นตอนการประมูลให้มีความโปร่งใสมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้ข้าว 10 ปีถูกกดราคา และช่วยรักษาชื่อเสียงประเทศ หากจะมีการส่งออกข้าวด้อยคุณภาพ โดยมีคำถามเช่น เหตุใดจึงไม่อนุญาตให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูลข้าว นำตัวอย่างข้าวออกไปตรวจสอบเพื่อให้ได้การรับรองคุณภาพ เพราะเรื่องนี้จะกระทบต่อความเชื่อถือ และจะกระทบกับราคาประมูลจะลดลงมาอย่างมาก เนื่องจากผู้ประมูลต้องคำนวณถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

“การกำหนดให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูลสามารถตรวจสอบทางกายภาพของข้าวด้วยสายตาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำตัวอย่างออกนอกคลัง หรือดำเนินการตรวจสอบโดยวิธีอื่น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ประมูลข้าว เพราะจะทำให้ผู้ประมูลต้องพิจารณาความเสี่ยง และนำไปสู่การกำหนดราคาประมูลที่ต่ำลง เช่น ควรจะเป็น 18 บาทต่อกิโลกรัม อาจจะเหลือแค่ 12 บาทต่อกิโลกรัม เพราะต้องบวกค่าความเสี่ยงที่มองไม่เห็นด้วย”

นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งหากตลาดต่างประเทศทราบว่าบริษัทใดมีการปรับปรุงข้าว และนำข้าว 10 ปีไปผสมขาย ย่อมเกิดความเสียหายต่อบริษัท รวมถึงเรื่องผลกำไร เพราะผู้ซื้อขาดความเชื่อมั่นในสินค้าของบริษัท และอาจไม่ซื้อสินค้าของบริษัทนั้น ๆ

“ผู้ที่ชนะการประมูลข้าวในครั้งนี้ จะต้องเปิดเผยให้สาธารณะรับทราบ เพื่อนำสู่การสืบค้นของภาคประชาชนและสื่อมวลชน ว่าบริษัทดังกล่าวนำข้าวล็อตนี้ไปทำอะไรบ้าง ส่งออกต่างประเทศหรือจำหน่ายในประเทศ และหากมุ่งเน้นนำไปขายในต่างประเทศก็ควรตีกรอบให้ชัดเจนว่าเป็นข้าวเพื่อส่งออก” รศ.สมพร กล่าว

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3997 วันที่ 2 – 5 มิถุนายน พ.ศ. 2567