ชงมหาดไทย ล้ม ม. 44 เปิดประมูล "สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว"

31 พ.ค. 2567 | 12:17 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2567 | 12:39 น.

“บีทีเอส” เปิดหนี้ภาครัฐค้างจ่าย “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 3 หมื่นล้านบาท มั่นใจพร้อมร่วมประมูลสัมปทานใหม่ ฟาก “กทม.” จ่อชงกฤษฎีกา-มหาดไทย ปลดล็อคคำสั่งม.44 ศึกษา พ.ร.บ.ร่วมทุน ดันสัมปทานสายสีเขียวภายในสัปดาห์หน้า

KEY

POINTS

  • “บีทีเอส” เปิดหนี้ภาครัฐค้างจ่าย “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 3 หมื่นล้านบาท มั่นใจพร้อมร่วมประมูลสัมปทานใหม่
  • ฟาก  “กทม.” จ่อชงกฤษฎีกา-มหาดไทย ปลดล็อคคำสั่งม.44
  • ศึกษา พ.ร.บ.ร่วมทุน ดันสัมปทานสายสีเขียวภายในสัปดาห์หน้า 

หลังจากกรุงเทพมหานคร หรือกทม.เดินหน้าชำระ “หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว” แล้ว หลังจากนี้ได้ตั้งเป้าของบประมาณปี 68 ศึกษาพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 62 เพื่อเปิดประมูลสัมปทานใหม่ที่จะสิ้นสุดในปี 72 

 

นายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา  กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายหลังจากที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เชิญบริษัทและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องหารือถึงการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เบื้องต้นการหารือในครั้งนี้ได้มีการสอบถามถึงหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้ยังมีหนี้ค่าจ้างเดินรถที่บริษัทฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดี ส่วนหนี้งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ทางกทม.ได้ชำระมาแล้ว 

 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า  ในปัจจุบันภาครัฐยังคงค้างหนี้ค่าจ้างเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับบริษัท จำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งดอกเบี้ยก็ยังคงเดินหน้าทุกวัน ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการฟ้องร้องเพิ่มเติม ส่วนกรณีที่สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะสิ้นสุดภายในปี 72 นั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกทม. แต่ปัจจุบันบริษัทยังมีสัญญาเดินรถร่วมกับกทม.ถึงปี 85 

 

“หากสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวสิ้นสุดและมีการเปิดประมูลใหม่ ทางเรามีความพร้อมอยู่แล้วตามนโยบายของภาครัฐ ส่วนประเด็นที่กทม.จะยกสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแลกกับหนี้ในปัจจุบันนั้น เรื่องนี้คงต้องรอให้กทม. ศึกษารายละเอียดก่อนมาเสนอเรา”
 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS นั้น เบื้องต้นกทม.จะเดินหน้าลดการผูกขาด โดยเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่ง ม.44 นำระบบรถไฟฟ้ากลับสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและร่วมทุนตามกฎหมาย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนต่อไป 

 

“เราอยากให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่กระบวนการเปิดประมูลใหม่ เพราะการต่อสัญญาสัมปทานจะดูแลเพียงไม่กี่คนไม่ได้ ซึ่งเราควรทำให้กระบวนการโปร่งใสเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด”

 

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งหนังสือสอบถามความคิดเห็นมาที่กทม.ถึงสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะสิ้นสุดในปี 72 นั้น เบื้องต้นกทม.เตรียมส่งหนังสือตอบกลับยืนยันไม่เห็นด้วยที่จะยึดตามคำสั่งม.44 ของคสช.เพราะเงื่อนไขดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไป โดยจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในสัปดาห์หน้า 

 

ขณะเดียวกันกทม.เตรียมส่งหนังสือรายงานความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ทั้งหมด 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.กทม.ได้ชำระหนี้งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 23,000 ล้านบาทแก่บีทีเอสซีแล้ว ทำให้เงื่อนไขตามคำสั่งม.44 ของคสช.เปลี่ยนไป ซึ่งกทม.อยากให้ครม.พิจารณาตัดสินใจโดยเร็ว 2.กทม.เห็นควรให้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 3.กทม.ขอให้ภาครัฐอุดหนุนค่างานโครงสร้างพื้นฐานและค่าติดตั้งระบบ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ในส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
 

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 62 (PPP) จะต้องใช้ระยะเวลาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษารายละเอียด ช่วงหมอชิต-สะพานตากสิน และหมอชิต-อ่อนนุช (เส้นทางไข่แดง) ตามกฎหมาย เบื้องต้นกทม.ได้ของบประมาณปี 68 แล้ว ซึ่งใช้เวลาศึกษาประมาณ 8-9 เดือน คาดว่ากระบวนการทั้งหมดรวมถึงการเสนอต่อครม.พิจารณาเห็นชอบแล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยในระหว่างที่รอครม.อนุมัติ สามารถดำเนินการศึกษาได้ก่อน เพราะหากรอครม.อนุมัติ คาดว่าจะดำเนินการไม่ทัน เนื่องจากเหลือเวลาดำเนินการเพียง 5 ปี  

ชงมหาดไทย ล้ม ม. 44 เปิดประมูล \"สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว\"
 
“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกทม.มีสัญญาจ้างเดินรถกับบีทีเอสซีถึงปี 85 เมื่อสิ้นสุดสัญญารายได้จะตกเป็นของกทม. โดยการศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาเพื่อหารูปแบบทางเลือกและแนวทางที่เหมาะสม เช่น การเจรจากับเอกชนรายเดิม,การเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่มาดำเนินการ ซึ่งมีเงื่อนไขสัญญาจ้างเดินรถค้างกับบีทีเอสซีถึงปี 85 ที่ผูกพันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และการเปิดประมูลใหม่โดยมีการชดเชยให้กับบีทีเอสซีที่มีสัญญาจ้างเดินรถค้างอยู่ในปัจจุบัน หากศึกษาแล้วเสร็จจะต้องเสนอต่อคณะกรรมการ PPP พิจารณา เพื่อให้กระบวนการเกิดความโปร่งใสด้วย” 

 

นอกจากนี้ในประเด็นหนี้ค่างานโครงสร้างพื้นฐานที่รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น ปัจจุบันกทม.ได้รับโอนรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว (สายใต้) ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ แล้ว แต่รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย (สายเหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต อยู่ในกระบวนการยังไม่ได้รับโอน ซึ่งประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งที่กทม.เสนอต่อภาครัฐไปด้วย 

 

“ขณะนี้กทม.จ่ายค่าเดินรถไปแล้วยังทำให้ขาดทุนมหาศาล โดยเฉพาะค่างานโยธาขาดทุนปีละหลายพันล้านบาท ซึ่งภาครัฐควรช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ หากมีการรับโอนสายเหนืออีก จะทำให้กทม.มีหนี้เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท เชื่อว่ากทม.แบกรับไม่ไหว เบื้องต้นกทม.ได้ส่งหนังสือกลับไปที่ครม.ให้โอนกลับคืนรฟม.แทน”