ครม.ล้างหนี้สายสีเขียว-เดินหน้า พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ลุ้น รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

16 พ.ค. 2567 | 07:00 น.
4.4 k

กทม.แจง ชำระหนี้บีทีเอส ก่อนรายงานมหาดไทย ชง ครม.ล้างหนี้ เตรียม ของบปี 68 จ้างที่ปรึกษาศึกษาสัมปทาน "ร่วมทุน" สายสีเขียว หลังหมดสัญญาปี 72 กมธ.คมนาคม ซัก บัตรใบเดียว-วางระบบ แรกเข้าราคาเดียวสุดสาย สนข. กางไทม์ไลน์ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม-ตั้งกองทุน ดัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของพรรคเพื่อไทย-พรรคแกนนำรัฐบาล ที่มี "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำกับดูแล ยืนยันว่า "ทำได้แน่นอน" ภายใน 1 ปีหลังจากนี้ ขณะนี้รอเพียง "กฎหมายตั๋วร่วม" เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ    

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตั๋วร่วม ที่มีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นเจ้าภาพ มีกำหนดที่จะนำเข้าครม.ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ 

นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังเชิญผู้บริหารระดับสูงจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) มาหารือถึงการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 

เดินหน้าบัตรใบเดียว-แรกเข้าราคาเดียว  

นายอนุชากล่าวว่า กมธ.คมนาคม ได้สอบถามถึงความคืบหน้าของการดำเนินการเรื่องตั๋วร่วม โดยแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรก ตั๋วร่วมที่มี "ค่าแรกเข้า" แตกต่างกันและซ้ำซ้อนหลายระบบ ระหว่างรถไฟฟ้าบีทีเอสกับรถไฟฟ้าใต้ดิน เพราะต้องรอ "พ.ร.บ.ตั๋วร่วม" ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดย สนข.ได้กำหนด "ไทม์ไลน์" ที่จะเสนอร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม เข้าครม.ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และเดินหน้าจัดตั้ง "กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม" กำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบให้เกิดความชัดเจน

นายอนุชากล่าวว่า สำหรับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างบริษัทเอกชนเดินรถไฟฟ้ากับรัฐบาล อย่างไรก็ดีคงต้องเร่งเรื่องการทำบัตรโดยสารให้สามารถใช้ได้ทุกระบบ และ "พ.ร.บ.ตั๋วร่วม" ให้มีผลบังคับใช้เพื่อให้ผู้ประกอบการแต่ละราย  "sharing cost" ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และเมื่อร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมมีผลบังคับใช้จะมีผลให้เกิดการจัดตั้งกองทุนฯ หลังจากนั้นจึงจะเจรจาค่าโดยสารในภาพรวมทั้งระบบได้  

“สัปดาห์หน้า กมธ.คมนาคมจะสอบถามนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หากเรื่องระบบตั๋วร่วมเป็นรูปธรรมแล้ว จะทำให้เกิดความยากง่ายในการผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจริงหรือไม่อย่างไร”นายอนุชากล่าว 

 

ครม.ล้างหนี้สายสีเขียว-เดินหน้า พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ลุ้น รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

นายอนุชากล่าวว่า เรื่องที่สอง การใช้ตั๋วร่วมที่เป็น "บัตรใบเดียว" สามารถเดินทางได้ทุกระบบ กมธ.คมนาคมเป็นกังวลว่า ตราบใดที่ระบบของ "บีทีเอส" กับรถไฟฟ้าใต้ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังแยกออกจากกันยังถือว่า ไม่ได้ใช้บัตรใบเดียว 

นายอนุชากล่าวว่า สนข.มีข้อสรุปว่าจะใช้ระบบ ABT ที่เป็น ticketing system หรือ ระบบซอฟต์แวร์หลังบ้านในการบริหารจัดการทั้งหมดเพื่อให้เป็นระบบ "บัตรใบเดียว" ในทุกระบบ คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาระบบอย่างน้อย 8 เดือนนับจากนี้ หรือ ประมาณต้นปี 68

“ในที่ประชุม กมธ.คมนาคมจึงมีข้อสรุปว่า ในสัปดาห์หน้าจะเชิญ สนข.และกระทรวงคมนาคมมาหารือในรายละเอียดแนวทางการเดินหน้าให้ตั๋วร่วมบัตรโดยสารใบเดียวใช้ได้ทุกระบบให้เป็นรูปธรรม”นายอนุชากล่าว

จ้างที่ปรึกษาศึกษาสัมปทาน "ร่วมทุน" สายสีเขียว

สำหรับความคืบหน้าการชำระหนี้ "บีทีเอส" ที่เป็น "วาระพิจารณา" ในการประชุมของกมธ.คมนาคมในครั้งนี้ 

นายอนุชากล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการหารือในวันนี้ คือ ความคืบหน้าการชำระหนี้ให้กับบริษัทบีทีเอส ซึ่งประกอบด้วยหนี้หลัก 3 ก้อน ได้แก่ ก้อนแรก โครงสร้างพื้นฐาน 56,112 ล้านบาท ซึ่งกทม.จะเสนอให้กระทรวงมหาดไทยหาข้อสรุปเพื่อเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป

ก้อนที่สอง งานระบบการเดินรถ (E&M) 23,312 ล้านบาท ซึ่งกทม.ชำระแล้ว และก้อนที่สาม งานเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) 30,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด  

นายอนุชากล่าวว่า ประเด็นที่ กมธ.คมนาคมจะติดตามต่อไป คือ การชำระหนี้ในส่วนของค่าก่อสร้าง ประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้สอบถามไปยังกทม.ให้กลับไปทำตัวเลขมาอีกครั้ง เพื่อให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด โดยเฉพาะดอกเบี้ย ซึ่งได้รับการยืนยันว่า เงินต้นยังคงเดิม แต่ในส่วนของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 

ครม.ล้างหนี้สายสีเขียว-เดินหน้า พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ลุ้น รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

นายอนุชากล่าวว่า สำหรับในอนาคตหลังจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 กับบริษัทบีทีเอสจะโอนกลับไปให้กระทรวงคมนาคมหรือไม่นั้น กทม.จะขอจัดสรรงบประมาณปี 68 เพื่อจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินการดังกล่าว ตามพ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 62 หลังหมดสัญญาฯ เพื่อรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบต่อไป