นโยบายไบโอดีเซลทุบราคาปาล์มดิ่ง โรงงานป่วน-ตลาด 7 หมื่นล้านระส่ำ

30 พ.ค. 2567 | 11:18 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2567 | 11:39 น.
9.7 k

นโยบายรัฐพ่นพิษ ทุบ “โรงผลิตไบโอดีเซล” 7 หมื่นล้านสะเทือน ลาม โรงสกัด-ลานเท ชะลอซื้อกดราคาปาล์มร่วง “ธรรมนัส” เข็นปรับสเปกไบโอดีเซล ฟื้นชีพ B10 เพิ่มใช้น้ำมันปาล์ม ช่วยดูดซับอีก 2-3 หมื่นตันต่อเดือน ดันราคาขยับ พร้อมลงพื้นที่เร่งแก้ปัญหา

ย้อนไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สถานการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลการรับซื้อผลปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรของลานเทเกิดการชะลอตัว ประกอบกับอัตราสกัดน้ำมันปาล์มเฉลี่ยปรับลดลงต่ำกว่า 18% ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นมา รวมถึงมีข้อร้องเรียนจากเกษตรกรว่า พบเห็นผู้ประกอบการลานเทรับซื้อผลปาล์มในราคาลดลงอย่างไม่เป็นธรรมชาติ และราคาที่เกษตรกรได้รับปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ยาวและต่อเนื่องมากที่สุด ทำให้โรงงานหยุดซ่อมเครื่องจักร บางแห่งหยุดเพราะขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการหีบสกัดน้ำมัน จากสัญญาณต่าง ๆ ที่ชาวสวนปาล์มเห็นราคาปรับลดลง มีผลให้พร้อมใจกันตัดผลปาล์มขาย ทำให้เกิดเหตุการณ์รถติดคิวเทปาล์มต้องนอนค้างคืน พื้นที่เทในโรงงานล้น หลายโรงทยอยปิด ส่งผลทำให้ลานเทเกิดวิกฤตติดขัดในการขายส่งสินค้า เพราะในลานเองสินค้ายังคงมีมาก

นโยบายไบโอดีเซลทุบราคาปาล์มดิ่ง โรงงานป่วน-ตลาด 7 หมื่นล้านระส่ำ

นายณัฎฐพร สินไชย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตรัง กรรมการในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยยอมรับว่า ปริมาณปาล์มน้ำมันออกมามาก โดยเฉพาะเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมที่มีวันหยุดบ่อย และหยุดยาว ทำให้การซื้อขายรถบรรทุกปาล์มน้ำมันติดรอคิว ราคาปาล์มปรับลดลง รวมทั้งปัญหาในช่วงฤดูแล้งทำให้สีของปาล์มทะลายคล้ายกับสีทะลายปาล์มที่สุกแล้ว หรือเรียกว่าสุกแดด เกษตรกรในบางพื้นที่ตัดทะลายปาล์มไม่ได้คุณภาพ มีตัวชี้วัดคือ ค่าอัตราการสกัดน้ำมันปาล์มลดลง

นโยบายไบโอดีเซลทุบซ้ำ

ขณะแหล่งข่าววงการค้าน้ำมันปาล์ม กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ทำให้ปาล์มล้นตลาด จากที่รัฐบาล โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โดยกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ดำเนินการออกประกาศปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โดยยกเลิกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 (น้ำมันB10) และกำหนดให้มีน้ำมันดีเซล 2 ชนิด ได้แก่ 1.น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (น้ำมัน B7) หรือน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลร้อยละ 7 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ เนื่องจากสามารถใช้งานกับรถยนต์ดีเซลในปัจจุบันได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ

2.น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 (B20) หรือน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลร้อยละ 20 เป็นน้ำมันทางเลือกมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ส่งผลทำให้ราคาปาล์ม ซึ่งการยกเลิกน้ำมัน B10 ทำให้มีความต้องการใช้ไบโอดีเซล(B100) เป็นส่วนผสมลดลง เป็นอีกส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อราคาปาล์มปรับตัวลดลง เกษตรกรขายปาล์มได้ 2.80-3.90 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ในขณะนี้

วิกฤติโรงงานไบโอดีเซล เขย่าปาล์ม

สอดคล้องผู้ประกอบการโรงงานไบโอดีเซลที่เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมไบโอดีเซลช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าตลาด 30,000-70,000 ล้านบาทต่อปี เป็นตัวช่วยเกษตรกรในการรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มจากรัฐบาลสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ลดการนำเข้า แต่พอรัฐบาลมาเปลี่ยนนโยบาย ทำให้กำลังในการเดินเครื่องของโรงงานผลิตไบโอดีเซล ณ เวลานี้มีไม่ถึง 30% หรือเดินเครื่องเฉพาะที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาเท่านั้น

ทั้งนี้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงเหตุผลในการลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามหากลดสัดส่วนการผสมลงมากกว่าที่เป็นอยู่ อุตสาหกรรมไบโอดีเซลจะได้รับผลกระทบถึงขั้นวิกฤติ จากที่โรงผลิตไบโอดีเซลมีกำลังผลิตรวมกันกว่า 11 ล้านลิตรต่อวัน แต่ขณะนี้ใช้กำลังการผลิตเพียง 30% ซึ่งในแง่อุตสาหกรรมถือว่าใช้กำลังการผลิตต่ำมาก จนจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้แล้ว

“ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลยังคงมีน้ำมันบี 10 อยู่จะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มได้เดือนละ 2-3 หมื่นตัน และก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้มีการปรับน้ำมันดีเซล เป็นยูโร 5 จึงทำให้มีการปรับลดการผสมไบโอดีเซลลงจากบี 10 เหลือบี 7 ทำให้น้ำมันปาล์มหายไปเดือนละ 2-3 หมื่นตัน (ปัจจุบันมีโรงงานไบโอดีเซล 15 โรง กำลังการผลิต รวม 11,860,184 ลิตร/วัน)”

“ธรรมนัส” ดันฟื้นชีพ B10เพิ่มใช้ไบโอฯ

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ได้มีหารือกันถึงสถานการณ์ราคาปาล์มตกต่ำ สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากโรงงานไบโอดีเซล หรือบี 100 ไม่ได้ซื้อตามราคาที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประกาศ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้รับปากว่าจะไปควบคุมราคาให้ผู้ค้าซื้อตามราคาประกาศ ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้ หากมีการประกาศราคา 30 บาทต่อลิตร แต่กลับไปกดราคารับซื้อ 26 บาทต่อลิตร เป็นสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรขายปาล์มได้ราคาต่ำ เป็นต้น

ส่วนกลไกในการควบคุมการตัดปาล์ม เนื่องจากมีกระแสปาล์มจะราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรตัดปาล์มยังไม่สุกพอทำให้ปริมาณน้ำมันมีน้อย จึงถูกพ่อค้ากดราคาลงอีก เป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเข้าไปควบคุม จากสต๊อกน้ำมันปาล์มเวลานี้ไม่เกิน 2.09 แสนตัน (กราฟิกประกอบ) ไม่น่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาปาล์มตกต่ำ ทั้งนี้จะเร่งให้มีการผลิตน้ำมัน B10 ใหม่ จากที่ได้มีการยกเลิกไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยกระทรวงพาณิชย์รับปากจะเร่งหารือในเรื่องนี้ และในวันที่ 29 พ.ค. ตนได้เดินทางไปจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อรับฟังปัญหาจากเกษตรกร และจะมีการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่  3996 วันที่ 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 0567