ธปท. จัดหนักรอบใหม่ ติงรัฐบาลทำ Payment Platform รับเงินดิจิทัล

22 พ.ค. 2567 | 07:10 น.
8.2 k

ธปท. ติงรัฐบาลทำ Payment Platform เอาให้ชัดทำแพลตฟอร์มกลาง หรือแค่ใช้ช่วยเช็ครายการให้ตรงเป้า มีระบบพิสูจน์-ยืนยันตัวตนมาตรฐานเทียบเปิดบัญชีเงินฝาก พร้อมรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 นอกจากเรื่องของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 ที่เตรียมออกมารองรับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แล้ว ยังมีอีกเรื่องสำคัญที่เสนอเข้ามาโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. เพื่อเดินหน้า โครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำคัญ และคาดหมายกันว่าเตรียมจัดทำขึ้นเพื่อโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต

ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายละเอียดของข้อเสนอที่เข้ามายังครม.ครั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อโครงการ Payment Platform เพื่อช่วยให้การดำเนินโครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ 

สำหรับขอบเขตของ Payment Platform ธปท. มองว่า ควรมีความชัดเจน ว่าจะเป็น Payment Platform กลางของประเทศ หรือเป็นเพียง Payment Platform เพื่อตรวจสอบรายการให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด (Transaction Processing System) ตามที่ ระบุในเป้าหมายของโครงการและกรอบแนวคิดการพัฒนา ตามลำดับ 

โดยหากจะพัฒนาเป็น Payment Platform กลางของประเทศ ควรต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุน และระยะเวลาในการพัฒนาระบบ หรือหากจะพัฒนาเป็น Payment Platform เพื่อตรวจสอบรายการให้เป็นไปตามเงื่อนไขเท่านั้น ก็ควรมั่นใจว่ามีขอบเขตการทำงานที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

 

ภาพประกอบข่าว โครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform)

ธปท. ยังมองว่า การพัฒนา Payment Platform ใหม่ ซึ่งมีความซับซ้อน ควรพิจารณาให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งในแง่ของทรัพยากรด้านบุคลากร งบประมาณ ระยะเวลาและข้อจำกัดในการดำเนินการโดยเฉพาะในส่วนที่สำคัญ ดังนี้

1. ระบบลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบสิทธิของประชาชน และผู้ประกอบการ

ต้องรองรับผู้ใช้บริการจำนวนมากได้ และมีความรัดกุม โดยการลงทะเบียนผ่าน Government Super Application ที่เชื่อมต่อไปยัง Payment Platform จะต้องสามารถรองรับผู้ใช้บริการจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน รวมทั้งต้องมีกระบวนการและระบบในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่ได้มาตรฐานของภาคการเงินที่เทียบเคียงได้กับการเปิดบัญชีเงินฝากหรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ 

ทั้งนี้จะช่วยป้องกันการสวมสิทธิและการทุจริต เพื่อให้การช่วยเหลือจากภาครัฐไปถึงประชาชนได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ตัวอย่างระบบลงทะเบียนที่ผ่านมา เช่น การลงทะเบียนในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปี 2565 ที่ประชาชนได้รับสิทธิ จำนวน 15 ล้านคน ต้องแบ่งการยืนยันตัวตนและตรวจสอบสิทธิออกเป็น 9 รอบ และแต่ละรอบใช้เวลาตรวจสอบสิทธิเบื้องต้นถึงประมาณ 7 วัน

2. ระบบการตรวจสอบเงื่อนไขการชำระเงิน

ควรออกแบบกลไกการทำงานให้มีศักยภาพมากพอ เพื่อรองรับเงื่อนไขที่ซับซ้อนและปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก โดยระบบต้องตรวจสอบเงื่อนไขได้ทุกมิติ ทั้งพื้นที่ ระยะเวลาและจำนวนรอบในการใช้จ่าย คุณสมบัติของร้านค้าและประเภทของสินค้าเพื่อให้ประชาชนสามารถ ทำธุรกรรมได้อย่างราบรื่น 

อีกทั้งต้องสามารถติดตามตรวจสอบย้อนหลังและป้องกันการทุจริต เพื่อไม่ให้เกิดการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งอาจทำให้ต้องยกเลิกธุรกรรมและเรียกคืนสิทธิจากประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก โดยการประเมิน ศักยภาพของระบบที่จะพัฒนาขึ้น อาจอ้างอิงกับระบบเป๋าตังและถุงเงินที่มีผู้ใช้งานจำนวนกว่า 40 ล้านคน

3. การเลือกพัฒนาเป็นระบบเปิด (Open - loop)

ควรพิจารณาความเหมาะสมและคุ้มค่าภายใต้กรอบระยะเวลาที่จำกัดของโครงการ เพราะการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการที่หลากหลายจะเพิ่มความซับซ้อนและระยะเวลาในการพัฒนาที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

นอกจากนี้ การทดสอบควรดำเนินการอย่างรัดกุม และครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อการให้บริการของผู้ที่เข้ามาเชื่อมต่อ จนอาจส่งผลต่อผู้ใช้งานเป็นวงกว้างและลุกลามเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) โดยตัวอย่างที่ผ่านมาในการพัฒนา mobile banking application ขั้นพื้นฐาน ทีมงานของธนาคารพาณิชย์ ยังต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงินเป็นจำนวนมาก และใช้เวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเกือบ 1 ปี 

จากข้อสังเกตข้างต้น การพัฒนาและดำเนินการ จึงควรจัดหาผู้พัฒนาระบบ (Developer) ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี เพื่อให้มีการวางแผนการพัฒนา และการทดสอบระบบที่รัดกุมครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้ระบบมีความมั่นคงปลอดภัย 

รวมทั้งควรเตรียมความพร้อมของผู้ดำเนินการระบบ (Operator) ให้สามารถดูแลระบบที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว โดยการดำเนินการของ Developer และ Operator ต้องเป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

 

ภาพประกอบข่าว ครม.เห็นชอบโครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform)

 

ธปท. ยังแนะนำเกี่ยวกับการประเมินงบประมาณของโครงการ ควรแจกแจงรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ทราบต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด เช่น งบประมาณที่คาดการณ์ว่าจะใช้จำนวน 95 ล้านบาท จะครอบคลุมส่วนใดบ้าง งบประมาณที่จะใช้ในปีถัดไปเป็นจำนวนเท่าไร

รวมทั้งควรประเมินต้นทุนและภาระค่าใช้จ่ายของผู้ให้บริการที่จะเข้ามาเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม ซึ่งที่ผ่านมาการพัฒนา mobile banking application ขั้นพื้นฐานของธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีต้นทุน เริ่มต้นประมาณ 300 ล้านบาท ด้วยโครงการ Payment Platform นี้จะเชื่อมต่อกับผู้ใช้งาน เป็นวงกว้างอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ 

ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และรักษาเสถียรภาพของระบบการชำระเงินโดยรวม จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป