ครม.อนุมัติเวนคืนที่ดิน สร้างทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย จตุโชติ – ลำลูกกา

21 พ.ค. 2567 | 15:03 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2567 | 15:09 น.
4.1 k

มติครม. ล่าสุด 21 พ.ค. 67 อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา) ในพื้นที่ 3 แขวง 2 เขต กรุงเทพมหานคร และ 4 ตำบล ในอำเภอลำลูกกา ปทุมธานี 

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงออเงิน เขตสายไหม แขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร และตำบลลาดสวาย ตำบลบึงคำพร้อย ตำบลลำลูกกา ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงออเงิน เขตสายไหม แขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร และตำบลลาดสวาย ตำบลบึงคำพร้อย ตำบลลำลูกกา ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

 

เพื่อสร้างทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา) และสิ่งจำเป็นอื่นเพื่อประโยชน์ของทางพิเศษ หรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรของโครงข่ายถนนรังสิต – นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบที่ปัจจุบันมีปัญหาการจราจรหนาแน่นอย่างมาก ช่วยรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดใกล้เคียง

   

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

รวมทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการใช้เส้นทางสำหรับคมนาคมขนส่งได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย และคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว  

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ข้างต้น เพื่อสร้างทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา) และสิ่งจำเป็นอื่นเพื่อประโยชน์ของทางพิเศษหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน

ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด มีกำหนดใช้บังคับ 5 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ใช้บังคับ