ผู้แทนการค้าไทยเสนอความร่วมมือ 3 ด้านไทย-จีน ขยายโอกาส-สร้างพันธมิตรใหม่

19 พ.ค. 2567 | 11:48 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2567 | 11:48 น.

ผู้แทนการค้าไทยเสนอความร่วมมือ 3 ด้านไทย-จีน ขยายโอกาส-สร้างพันธมิตรใหม่ ชี้ความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่แค่การลงทุน แต่ครอบคลุมด้านวัฒนธรรม การศึกษา และการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี

ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยภายหลังงานสัมมนาส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมจีน (คุนหมิง) – ไทย ว่า มีการเสนอความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างกัน 3 ด้าน ประกอบด้วย 

  • ความร่วมมือด้าน เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ให้ทั้งสองฝ่ายควรใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จาก RCEP สนับสนุนการอัพเกรด ASEAN - China FTA ที่มีคุณภาพสูง และเร่งรัดการจัดทำความตกลงทวิภาคีด้านการค้าและการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพิ่มเติม ตลอดจนขจัดอุปสรรคในการลงทุนและส่งเสริมการลงทุนสองทาง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ EV ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy พร้อมทั้งส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งในการเชื่อมโยงรถไฟไทย - ลาว - จีน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ของไทย ซึ่งจะเป็นฮับใหม่ด้านเศรษฐกิจของไทยและมีศักยภาพสูงที่จะร่วมมือกับจีน
  • ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ควรเพิ่มพูนความร่วมมือทางการศึกษาและการวิจัยในเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งในด้าน AI ยาชีวภาพ และเทคโนโลยีสีเขียว ตลอดจนให้ความสำคัญกับการขยายผลงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสให้แก่ SME และ Start-up เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาพรวม โดยสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มความร่วมมือที่มีอยู่
     
  • ความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ซึ่งเป็นความร่วมมือที่สำคัญยิ่งในการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชน และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทย-จีนในระยะยาว โดยควรใช้ประโยชน์จากความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางไทยและจีนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม ปีนี้ พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในด้าน soft power อื่นๆ ทั้งในเรื่องอาหาร กีฬา แฟชั่น ภาพยนตร์ วัฒนธรรม การบริการและ hospitality ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสเพิ่มเติมทางเศรษฐกิจ

ผู้แทนการค้าไทยเสนอความร่วมมือ 3 ด้านไทย-จีน ขยายโอกาส-สร้างพันธมิตรใหม่

ทั้งนี้ ประเทศไทยและประเทศจีนมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานและมั่นคง ความสัมพันธ์นี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงด้านวัฒนธรรม การศึกษา และการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีด้วย 

"งานสัมมนาดังกล่าวเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือที่มีอยู่ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเป็นเวทีในการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับจังหวัดร่วมกัน ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและจีนต่างต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การแข่งขันในตลาดโลก และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวน ความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างเราจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ"
 

ทั้งนี้ คุนหมิงมีความได้เปรียบในทำเลที่ตั้งซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของ สามวง ตัดกัน ได้แก่ วงการค้าเสรีอาเซียน วงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล ด้วยการพัฒนาของความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน 

และการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟจีน-ลาว-ไทย (รางมาตรฐาน) ข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ศูนย์กลางของภูมิภาค และการเปิดกว้างมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศไทยตั้งอยู่ในใจกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ที่สำคัญ รัฐบาลจะทำงานร่วมกับคุนหมิงเพื่อเสริมสร้างการประสานงานด้านนโยบายและการลงทุนด้านทรัพยากร ส่งเสริม การเชื่อมต่อของโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งข้ามพรมแดนและการเชื่อมต่อโครงข่ายเหล่านี้สามารถส่งเสริมการค้าที่ไร้อุปสรรค การบูรณาการทางการเงิน และการไปมาหาสู่กันของประชาชน ซึ่งจะเสริมแรงผลักดันใหม่ให้กับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างทั้งสองฝ่าย